maipatana.me

แปล Designing the Result of One’s Own Warped thought Processes โดย Toyo Ito

Toyo Itoปรากฏการณ์วิทยาสถาปัตยกรรม

สวัสดีครับ วันก่อนผมเปิดหนังสือ Japanese Architecture and Urbanism (JA+U) ฉบับเดือนมีนาคมปี 2016 ที่เป็นฉบับหน้าปกเทาๆ ครบรอบ 60 ปีของ JA+U อ่านๆไปเจอเรียงความชื่อ Designing the Result of One’s Own Warped thought Processes โดย Toyo Ito ที่เขียนไว้สำหรับบ้านชื่อ Aluminum House ซึ่งเป็นงานบ้านพักอาศัยงานแรกของ Toyo Ito ซี่งในขณะนั้นมีอายุประมาณ 30 ปี งานนี้ได้ลงหนังสือ Shinkenchiku ฉบับเดือนตุลาคมปี 1971 ไปแล้วในตอนแรก ผมเห็นว่ามันสั้นและน่าสนใจดี ผมจึงทำการแปลเป็นภาษาไทยไว้ตรงนี้

โดยเราจะได้เห็นถึงวิธีคิดของเขาในสมัยนั้น สมัยที่กำลังค้นหาแนวทางการออกแบบของตัวเอง และอิทธิพลของสถาปัตยกรรมในยุคสมัยใหม่ (modern architecture) ที่ขาดความหมายกับสังคม โลกาภิวัฒน์ที่พาบ้านแบบแคลิฟอร์เนียมาจุติลงในญี่ปุ่น การเป็นคนของยุคสมัยในการเลือกใช้วัสดุสมัยใหม่ และแง่มุมอื่นๆ ลองอ่านกันดูครับ

Note1: ผมไม่อยากลงต้นฉบับไว้เพราะหนังสือมันเพิ่งออกและหาซื้อได้อยู่ ถ้าชอบก็ลองไปหาอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่นดูครับ

Note2: ส่วนที่ผมวงเล็บ (..) ไว้คือภาษาอังกฤษต้นฉบับในส่วนที่ผมคิดว่าจำเป็นครับ


Designing the Result of One’s Own Warped thought Processes โดย Toyo Ito_001

รูปบ้าน Aluminum House จากหนังสือ JA+U ฉบับเดือนมีนาคม ปี 2016

Designing the Result of One’s Own Warped thought Processes โดย Toyo Ito

ในห้วงลึกของความคิดของแต่ละคนจะมีทั้งความขัดแย้งและลงตัวของเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ข้อมูลมากมายมหาศาลที่ไร้คุณภาพได้ถาโถมเข้ามาล้อมรอบตัวเรา ทำให้ดูเหมือนว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเชื่อในทฤษฎีในการออกแบบต่างๆ สถาปัตยกรรมสูญเสียความหมายอย่างต่อเนื่องในเชิงการเชื่อมต่อกับสังคม การเกิดขึ้นของทฤษฎีที่เปลี่ยนไปและการพูดคุยที่ไร้แก่นสารของโลกสถาปัตยกรรม คนธรรมดาคนหนึ่งที่เปราะบางที่เพิ่งได้ก้าวเท้าเข้ามาในวงการการออกแบบคงไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากการแสดงถึงความไม่มีเหตุผล (irrationality) ของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา ผมเชื่อว่าการพยายามเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งในตัวคนคนหนึ่งสามารถช่วยในการค้นหาความหมายและความสัมพันธ์เชิงสถาปัตยกรรมในทางสังคมกับชีวิตประจำวันได้ ตราบใดที่ความพยายามนั้นอยู่บนพื้นฐานของการคิดไปในทางที่ดีว่าการออกแบบที่มีความตั้งใจที่ดีนั้นมีคุณค่าและเป็นตัวชี้นำสังคม ในอีกด้านหนึ่ง การละทิ้งความรู้ตัวถึงการ “ออกแบบ” ช่วยให้มองเห็นได้ชัดขึ้น โดยผมหมายความว่าผมปรารถนาที่จะผลักดันสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้มาก่อนนามธรรม (put the concrete before the abstract) แทนที่จะกังวลกับปรัชญาการออกแบบจนมากเกินไป ผมอยากสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรม; กล่าวโดยย่อแล้ว ผมอยากจะสื่อสารด้วยสิ่งที่สื่อได้ถึงความรู้สึกและสัมผัสที่จะต้องมาก่อนทฤษฎีใดๆ (communicate by means of senses and feelings, which must come before theories)

ในการออกแบบบ้านพักอาศัย ผมประสบกับรอยแยกที่ดูจะไม่สามารถประสานกันได้ของตัวผมเองที่เป็นสถาปนิกและลูกค้าที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้น แม้ผมจะรู้ว่าจะต้องเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ ผมก็ยังสงสัยว่ามันมีอะไรที่เป็นจุดร่วมกันที่เพียงพอระหว่างสถาปัตยกรรมและลูกค้าที่จะมาเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ ไม่ว่าความคิดนี้จะถูกหรือผิดผมก็คิดแบบนี้ในตอนนี้ ผลของการคิดแบบนี้ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือผมรู้สึกว่ามันจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเติมเต็มช่องว่างนี้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็เห็นกำแพงมหึมาที่กั้นระหว่างผมและลูกค้าที่ทำให้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเติมเต็มช่องว่างนี้ ส่วนมากแล้วสถาปนิกกับลูกค้ามีสังคมที่แตกต่างกันมาก หรืออาจจะเรียกได้ว่าอยู่กันคนละโลก พวกเขาเจอกันไม่กี่ครั้งเพื่อพูดคุยถกเถียงกันแต่เรื่องบ้านที่เป็นจุดเชื่อมต่อของพวกเขา พวกเขาจำเป็นจะต้องพยายามเข้าใจกันและกันภายใต้การมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างจำกัดนี้ ความสัมพันธ์แบบนี้มีความคล้ายกับการจัดการแต่งงานแบบเก่าของญี่ปุ่น โดยคนหนุ่มสาวมาเจอกันแค่ไม่กี่ครั้งเพื่อพูดคุยนัดแนะกัน แล้วก็แต่งงานกัน การพัฒนาแบบสถาปัตยกรรมภายใต้การสื่อสารที่น้อยนิดนี้ทำให้ต้องมองข้ามเรื่องสำคัญหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตและการใช้พื้นที่เพื่อการใช้ชีวิตไป จนกลายไปเป็นการวัดกันระหว่างเทคนิคการออกแบบและพื้นที่เพื่อการใช้งานเท่านั้น (compromise dealing with superficial techniques and functions.) บางครั้งสถาปนิกหลายๆคนถูกตราหน้าว่าเป็นพวกอัตตาสูง ไม่สนใจความต้องการและความจำเป็นของลูกค้า แต่ผมรู้สึกว่าคำวิจารณ์นี้แสดงออกถึงการขาดการสื่อสารเพื่อเติมเต็มช่องว่างระหว่างสถาปนิกและลูกค้า ผมเชื่อว่าการที่จะทำให้ช่องว่างระหว่างสถาปนิกและลูกค้าชัดเจนขึ้นนั้น สถาปนิกจะต้องนำเสนอแบบที่มาจากแนวคิดของสถาปนิกแทนที่จะเป็นแนวคิดของลูกค้า (the architect must present a model based largely on his own ideas instead of the those of the client.) ถ้าทำวิธีนี้ สถาปนิกจะกระตุ้นการแลกเปลี่ยนความคิดที่แท้จริงกับลูกค้าได้ แต่ละคนก็แสดงอัตตาของตัวเองออกมา แต่ละคนก็เผยกันให้เห็นถึงรสนิยม (warps) และความบิดเบี้ยว (twits) ของตัวตนของแต่ละคนจากการได้เจอกับแบบร่างอันนี้

Designing the Result of One’s Own Warped thought Processes โดย Toyo Ito_002

รูปพื้นที่ภายในบ้านจากหนังสือ JA+U ฉบับเดือนมีนาคม ปี 2016

ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะทำให้กระบวนการนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แบบร่างควรที่จะแตกต่างจากสิ่งที่ลูกค้าคิดเอาไว้ให้มากที่สุด เพราะมันจะทำให้เกิดการปะทะที่ทำให้เกิดรอยแผลที่ยิ่งลึกยิ่งแสดงถึงความสำเร็จของบ้าน หลังจากที่บ้านสร้างเสร็จแล้ว คนที่อยู่อาศัยก็คงจะเริ่มเติมแต่งรสนิยมของตัวเองเข้าไปในพื้นที่ว่างต่างๆ แต่ถ้าพื้นที่ว่างนั้นมีพื้นฐานการออกแบบมาจากวิถีการใช้ชีวิตอยู่แล้ว ผู้อยู่อาศัยก็จะไม่สร้างความขัดแย้งที่รุนแรงในพื้นที่นั้นๆได้ ผมอิจฉาความมั่นใจของ Kazuo Shinohara ที่ทำให้เขาบอกลูกค้าได้ว่าอย่าไปทำอะไรเพิ่มเติมกับบ้านที่เขาออกแบบ แต่ผมก็เพิ่งเริ่มเส้นทางในอาชีพนักออกแบบนี้ ทุกๆอย่างยังเป็นเพียงเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเท่านั้น และแน่นอนว่าผมยังไม่ได้สถาปนาสิ่งที่ผมสามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวทางของผม สิ่งที่ผมทำได้ตอนนี้คือสร้างเส้นทางโดยการพาลูกค้าไปยังแนวคิดใหม่ๆ ผมสามารถทำสิ่งนี้ได้ด้วยการพลิกแพลงวิธีการทำงานตามแบบมาตรฐานทั่วๆไป ในตอนแรกผมทำเพื่อสร้างแบบร่าง จากนั้นก็ทำกับการศึกษาวิถีการใช้ชีวิตและความปรารถนาของลูกค้า จากนั้นก็เชื่อมต่อกับงบประมาณ กฎหมาย สังคมและประเด็นทางเทคนิคต่างๆ

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา แนวคิดและงานของ Robert Venturi Charles Moore และ Joseph Esherick มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักออกแบบบ้านชาวญี่ปุ่น ผมเองก็เคยถูกสะกดด้วยความงดงามของแผ่นไม้แดงใช้ภายนอก (redwood weatherboards) หลังคาชิงเกิ้ล (shingle roofing) และเหล่าซิลลูเอทของหลังคาเพิงแหงนที่ Sea Ranch แต่บ้านพวกนี้ถูกสร้างที่ชายหาดในแคลิฟอร์เนีย และพวกมันปฏิเสธที่จะคงความสวยงามเอาไว้ให้เหมือนอย่างที่มันเป็นภายใต้สภาพแวดล้อมของมันเมื่อเราพยายามย้ายมันมาใส่ในบริบทของเราท่ามกลางผนังฉาบปูนกับพื้นโครงแผ่นเหล็ก (steel-sheet flooring) ของอพาร์ทเม้นในญี่ปุ่น ถึงจะอย่างนั้นก็ตาม การยัดเยียดที่ไร้เหตุผลของบ้านแบบแคลิฟอร์เนีย ลงในบริบทของญี่ปุ่นที่ผมทำงานอยู่ ได้ให้กำเนิดการหุ้มด้วยอะลูมิเนียม (aluminium cladding) แก่บ้านหลังนี้

เจ้าของบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ภูเขาของญี่ปุ่นมายี่สิบกว่าปี เขามีความใฝ่ฝันถึงบ้านริมทะเลมานาน ด้วยเหตุผลนี้เขาได้ซื้อที่ดินที่มีต้นสนและติดชายหาดที่มีลมแรง ที่ดินนี้ห่างจากโตเกียวประมาณหนึ่งชั่วโมง แนวชายหาดบริเวณนี้แตกต่างอย่างถึงที่สุดกับป่าไม้แดงบริเวณตอนกลางและตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย อย่างแรกเลยคือพื้นที่ตรงนี้ถูกปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เสียจนแทบจะขาดการเชื่อมต่อที่ดีกับบรรยากาศของชายหาด อย่างที่ผมได้บอกไปแล้วว่าภาพของชายหาดนี้กับที่แคลอฟอร์เนียซ้อนทับกันในหัวของผม แม้ว่าภาพซ้อนนี้ได้เลือนหายไปแทบในทันที และผมก็เหลือแต่ความพยายามที่จะคิดหาทางพัฒนาแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชานเมืองโตเกียว ทฤษฎีการออกแบบเมืองและชุมชนนั้นไร้ประโยชน์ในกรณีแบบนี้ สิ่งแรกที่ผมรู้สึกได้จากการผสานกันอย่างไร้เหตุผลของภาพชายหาดทั้งสองคือบางอย่างที่เหมือนจะเป็นความโกรธ จากนั้นผมก็รู้ได้ทันทีว่า ถ้าผมปรับมุมมอง สิ่งต่างๆที่เหมือนจะเป็นเรื่องสามัญจะกลายเป็นสิ่งใหม่และมีรูปร่างที่น่ามหัศจรรย์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ผมได้แนวคิดการใช้อะลูมิเนียมสำหรับผนังภายนอก ถ้าไม่ได้เห็นภาพซ้อนนั่นผมคงคลุมบ้านด้วยแผ่นไม้ lauan ที่ทาด้วยน้ำมันรักษาผิว แต่เพราะว่าความโกรธในความขัดแย้งของสภาพแวดล้อมทั้งสอง ผมคิดได้ว่าการเข้าถึงวัสดุในสถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้มีเพียงการใช้สิ่งที่เรียกว่าความคิดแบบธรรมดา (commonsense) แบบเดียว มันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ไม้ปิดผนังภายนอกอาคาร ใช้ผ้าปิดภายใน และดวงไฟทรงกลมสีขาว วัสดุเหล่านี้พบเห็นได้ในบ้านในญี่ปุ่นโดยทั่วไปของทุกวันนี้ พวกเราเคยชินกันการใช้อะลูมิเนียมกับภายนอกของอาคารขนาดใหญ่ และตู้สำหรับขนส่งทางรถไฟ แต่เป้าหมายของผมคือการใช้มันกับบ้านเพื่อแสดงออกว่าผมพอใจกับวัสดุในยุคสมัยของเรา แสดงออกว่าผมคงเลือกใช้เหล็กและอะลูมิเนียมมากกว่ากระเบื้อง ไม้อัดและไม้ลามิเนตมากกว่าไม้จริง มากไปกว่านั้น ผมหลงเสน่ห์กับแนวคิดของการมีแสงอาทิตย์เดือนสิงหาคมสาดส่องลงมาที่แผ่นอะลูมิเนียมเหล่านี้

Designing the Result of One’s Own Warped thought Processes โดย Toyo Ito_003

รูปแสดงช่องแสงและพื้นที่ภายในจากหนังสือ JA+U ฉบับเดือนมีนาคมปี 2016

การใช้อะลูมิเนียมสำหรับหลังคานั้นไม่ค่อยน่าตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่ ถ้างบประมาณเพียงพอผมคงใช้วัสดุที่หนักกว่าที่จะให้แสงประกายมากกว่านี้ แต่จริงๆอาจจะดีแล้วที่เป็นแสงประกายอ่อนๆของอะลูมิเนียม โดยเฉพาะกับลมทะเลที่จะทำให้ผิวอะลูมิเนียมนั้นด้านลงไปในไม่ช้า ยิ่งไปกว่านั้น ผมรู้สึกคิดถึงบางอย่างเมื่อมองดูลวดลายของผิวอะลูมิเนียม มันทำให้ผมนึกถึงการก่อสร้างที่เร่งรีบของที่พักอาศัยแบบกระท่อมที่ผู้คนอาศัยในช่วงสั้นๆหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระท่อมเหล่านั้นคลุมด้วยเหล็กแข็งๆที่ให้แสงสะท้อนแบบด้านๆแบบที่บ้านหลังนี้จะเป็นในไม่ช้า

นอกจากการหุ้มด้วยอะลูมิเนียมที่ให้ชื่อกับบ้านแล้ว ลักษณะเด่นอย่างที่สองของบ้านคือช่องแสงที่เป็นท่อทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสองช่อง – หรือเรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างหลัก – จากฐานขึ้นมาเป็นทรงสองส่วนที่กลายเป็นแปลนของบ้าน ช่องแสงนี้สร้างพื้นที่เปิดโล่งในด้านสูง ทำให้สามารถวางบันไดปีนขึ้นไปห้องข้างบนได้

ในการออกแบบช่วงต้นๆ ผมคิดถึงการใส่อุปกรณ์ล้ำสมัยต่างๆในพื้นที่บริเวณที่ได้รับแสงจากช่องแสงและในช่องแสง แต่พอคิดดูดีๆผมก็เปลี่ยนใจ ผมคิดว่านอกเสียจากว่าพื้นที่ตรงนั้นจะต้องการความน่าตื่นเต้นหรืออะไรทำนองนั้น สิ่งที่เรียกว่าบริเวณสำหรับอุปกรณ์ล้ำสมัยก็จะกลายเป็นพื้นที่โฆษณาให้กับผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆที่ใช้ในบ้านหลังนี้ เมื่อผมไม่สามารถหาเหตุผลที่จะใช้มันให้กับบ้านอะลูมิเนียมหลังนี้ได้ พื้นที่ว่างใต้ช่องแสงกลายเป็นเปลือกที่ขาดอุปกรณ์ล้ำสมัย ขาดแนวคิดที่จะควบคุมพื้นที่ตรงนี้ ส่งผลให้ในชีวิตประจำวันแล้ว พื้นที่ตรงนี้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีมัน ภาพของบ้านหลังนี้ก็จะพังทลายลงมาทันที (without them the image of the house would crumble completely.)

Designing the Result of One’s Own Warped thought Processes โดย Toyo Ito_1_floor_Plan

รูปแปลนชั้นล่างจากหนังสือ JA+U ฉบับเดือนมีนาคม ปี 2016

บ้านหลังนี้ถูกใช้งานโดยสมาชิกสามคนของครอบครัวมาเป็นเวลากว่าห้า เดือนแล้ว แต่เฟอร์นิเจอร์ต่างๆยังไม่ถูกนำเข้ามา ลูกชายคนโตที่อยากจะเป็นสถาปนิกได้เตรียมจะแขวนธงลายแถบสีแดง-น้ำเงินที่เขาออกแบบเองที่บ่งบอกถึงธงชาติอังกฤษเอาไว้ในห้องนอนของเขาบนชั้นสอง ผมและทีมงานได้ใส่ใจอย่างมากกับบ้านหลังนี้ แต่ลูกค้าก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาหลายเรื่องไปเรียบร้อย ความไม่พอใจของลูกค้าบางอย่างคือเรื่องเกี่ยวกับการใช้งานพื้นที่ และเรื่องอื่นๆคือเรื่องเกี่ยวกับการเลือกใช้งานพื้นที่ต่างๆให้ดีที่สุด (Some of their grievances concern functional matters, and others have to do with ways of putting the spaces it to best use.) เนื่องจากพื้นที่ส่วนมากของบ้านเป็นพื้นที่เปิดโล่ง – จริงๆแล้วก็โล่งทุกส่วนยกเว้นห้องนอน – การสร้างพื้นที่แบบนี้โดยรักษาความเป็นส่วนตัวได้อยู่ถือว่ายังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก ครอบครัวบอกว่ารูปทรงห้องแปลกๆขัดแย้งกับการวางชุดห้องนั่งเล่น และการที่มุมของพรมเป็นมุมสี่สิบห้าองศามันน่ารำคาญใจ (and the forty-five-degree-angle stripes in the rug get on their nerves.)

แน่นอนผมต้องทำการไตร่ตรองอย่างหนักกับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ แต่ผมคงจะเลือกอาชีพผิดถ้าพื้นที่พักอาศัยจะต้องเข้ากับความต้องการของชุดห้องนั่งเล่นจากห้างร้าน สำหรับเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้น ผมมั่นใจว่าถ้าตั้งกำแพงกั้นพื้นที่ขึ้นมาตอนพัฒนาแบบก็จะสามารถปรับเปลี่ยนลักษณะของพื้นที่ได้ แต่ว่าถ้าลูกค้ายืนยันว่าอยากได้กำแพงนี้ ลูกค้าจะถูกบังคับให้คำนึงถึงน้ำหนักของกำแพงนี้อย่างมาก การเชื่อมต่อของพื้นที่ในชีวิตประจำวัน ความหมายของความเป็นส่วนตัว (the family will be forced to consider deeply the weight of the wall itself, connections between space and daily life, and the meaning of privacy.) วิธีที่ผมใช้คือการอยู่ตรงข้ามกับการออกแบบพื้นที่แบบธรรมดาที่สามารถกั้นห้องตรงไหนก็ได้ ผมรู้สึกว่าพื้นที่แบบนี้ไม่ควรมีการกั้นห้อง

สถาปนิกต้องไม่สร้างวิธีการทำงานที่บังคับให้ผู้คนทำตามแบบที่เด็กๆเชื่อฟังคุณครู แต่บ้านไม่ใช่ผลผลิตของการเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวิถีชีวิตของลูกค้าสถาปนิกไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนักมนุษยศาสตร์ที่ดีโดยธรรมชาติ และลูกค้าก็ผิดที่จะคิดว่าสถาปนิกจะต้องเป็นแบบนั้น (The architect is not necessarily a great humanist by nature, and the client is wrong to assign that role to him.) พื้นที่พักอาศัยจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า พื้นที่เหล่านั้นจะต้องกระตุ้นเขา เขาจะต้องทำลายพื้นที่และสร้างมันใหม่อย่างที่เขาต้องการ ผมหวังว่าจะเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆในการเริ่มก้าวเข้าสู่กระบวนการสร้างพื้นที่ใหม่อีกครั้ง อย่างแรกที่จะทำกับบ้านอะลูมิเนียมนี้คือเริ่มจากห้องที่โดยแสงอาทิตย์ทางทิศใต้ ผมชอบให้ด้านทิศใต้อย่างที่มันเป็น (The first distoration of the aluminium house is the imminent attachment on the south side of sunroom. I liked the south side as it was.)


เป็นยังไงกันบ้างครับ ผมพยายามแปลโดยให้ความหมายยังคงเดิมมากที่สุด บางส่วนอาจจะอ่านแล้วงงบ้าง แต่ก็นั่นแหละครับ ผมก็งงบ้างเหมือนกัน 55 แต่คิดว่าสาระสำคัญไม่ผิดไปจากนี้แน่นอนครับ


ผมเคยแปลบทความอื่นๆเอาไว้ด้วย ลองกดดูถ้าสนใจครับ

[แปล] All Things Are Nothing to Me โดย Max Stirner

[แปล] Zaha Hadid สัมภาษณ์ โดย Geoffrey Broadbent

[แปล] Semiology and the Urban โดย โรล็องด์ บาร์ตส์

[แปล] The Office Building โดย Mies van der Rohe