Digital Wonderland โดย Alexandros Kallegias
สถาปัตยกรรมParametricscriptingการศึกษา
Digital Wonderland โดย Alexandros Kallegias
Alexandros Kallegias จาก Zaha Hadid Architects ได้มาบรรยายวันนี้ที่ Welsh School of Architecture หรือ WSA ในหัวข้อเรื่อง Digital Wonderland โดยเน้นเกี่ยวกับการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงไปของบทบาทของสถาปนิก และการใช้เครื่องมือในยุคปัจจุบันเพื่อช่วยให้การออกแบบ เช่น BIM(Revit), Grasshopper(Visual Scripting) และ Robot(หุ่นยนต์) เป็นต้น
เป็นบรรยายสั้นๆ ไม่ถึง 1 ชั่วโมง ตอนแรกว่าจะไม่ไป เพราะนึกว่ามันจะคล้ายๆกับปีก่อนหน้านี้ แต่พอผมอ่านรายละเอียดแล้วไม่เหมือนกัน ก็เลยไป จริงๆเรื่องที่เค้าพูดมีหลายเรื่อง แต่ผมจะสรุปประเด็นที่น่าสนใจ ที่ผู้พูดเน้นย้ำมาเล่าในนี้สักนิด โดยจะมีเรื่องของ
เครื่องมือการออกแบบ (Design Tools)
ภาพแสดงเครื่องมือ Digital และดินสอปากกา
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกเน้นย้ำมากเป็นอันดับสองในการบรรยายครั้งนี้ คือเรื่องของ เครื่องมือ โดยเครื่องมือนี้ก็คือเครื่องมือเพื่อการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ในรูปที่เป็นดินสอปากกานั่นก็หมายถึงว่า เครื่องมือในการออกแบบมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และไม่เหมือนเดิม
โดยถ้าเป็นปากกาหรือดินสอ เราก็ยังพอมีการควบคุมมันได้มาก แต่พอเป็นเครื่องมือแบบ Digital แล้ว ถ้าเราไม่มีความรู้มากพอ เราก็ไม่สามารถควบคุมเครื่องมือได้ดีพอ อาจจะทำให้แย่ลงก็ได้ (อันนี้ผมก็เคยได้ยินมานะ ว่าเมื่อก่อนนี้ที่มหาลัยเค้าไม่สอนคอมพิวเตอร์ให้นักศึกษากัน เพราะคิดว่าคอมฯจะควบคุมคน และทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัด)
แต่ทางแก้ปัญหาคงไม่ใช่ไม่ใช้มันเลย เพราะเราต้องยอมรับว่าเครื่องมือในปัจจุบันมันดีมากๆ ฉะนั้นเราควรเรียนรู้การทำงานของมัน เพื่อที่จะสามารถใช้งานมันได้อย่างมีอิสระมากขึ้น โดย Alexandros ได้ชี้ให้เห็นการพัฒนานักศึกษาด้วยการสอน Grasshopper และการ Scripting อื่นๆ เช่น Processing เป็นต้น และให้ดูการทำงานของ Zaha Hadid Architects ที่หลายๆครั้งต้อง workaround โปรแกรมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่ต้องการ และก็มีหลายครั้งที่โปรแกรมมันค้างหรือไม่ทำงานต่อ อย่างเช่นภาพตัวอย่างข้างล่าง
ภาพแสดงตัวอย่างเวลาโปรแกรมมันมีปัญหา
เรื่องของเครื่องมือที่สำคัญอีกอย่างก็คือว่าเราไม่ควรยึดติดอยู่ที่เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง แต่ควรเลือกใช้เครื่องมือตามความเหมาะสมของโครงการ อย่างที่ Zaha Hadid ก็มันใช้ Maya เพื่อการออกแบบเบื้องต้น เพราะปั้นพวก Freeform ได้สะดวก และก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น Rhino Grasshopper ก็ใช้เยอะ หรือ Revit ก็ใช้เยอะในช่วงหลังๆ เป็นต้น
"Constrain of the software should not be a problem."
ตัวอย่างการใช้ Processing ทำ Visual Graphic (ผมใช้กล้องมือถือถ่าย คุณภาพแย่นิดนึงถึงมาก)
อ่านถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะนึงถึงเรื่องของ Aedas กับ Foster + Partners ที่ผมเคยเขียนไว้ ที่นี่ ว่าเค้าก็ต้องมีการ workaround ตัวโปรแกรมที่ใช้งานด้วยการเขียน Script เล็กๆหลายๆอัน เพื่อส่งต่อข้อมูลต่างๆเข้าหากันเหมือนกัน
การร่วมมือ (Collaborations)
ต่อจากข้อแรก เรื่องของ ความร่วมมือ เป็นเรื่องที่พูดเน้นย้ำมากที่สุด เนื่องจากการทำงานในปัจจุบันที่มีความท้าทายหลายอย่าง การร่วมมือกันจึงเป็นส่วนสำคัญของการที่คนเราจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะสถาปนิกคงจะไม่ได้รู้ไปหมดทุกอย่าง ฉะนั้นการทำงานร่วมกันกับคนอื่นๆ หรือบริษัทอื่นๆ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ และจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันได้อย่างดีด้วย เพราะหากจัดการไม่ดี การทำงานร่วมกันหลายๆกลุ่มจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างมาก
การร่วมมือในที่นี้มีความหมายที่มากกว่าทั่วๆไปอย่างนิดนึง ตรงที่ว่ามีการพูดถึงเรื่องของ Open source และการที่คนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน มาจากคนละที่ หรืออาจจะอยู่คนละที่กัน มาทำงานร่วมกันได้
ท่านผู้อ่านรู้จัก Teamwork ของ Archicad หรือ Worksharing ของ Revit ทั้งสองอย่างอารมณ์ประมาณ GitHub นี่แหละครับ ก็คือว่า เรามาทำโปรเจคร่วมกัน โดยมีแกนโปรเจคอยู่ว่าจะทำอะไรไปทางไหน แล้วแต่ละคนก็เข้ามาทำโปรเจค โดยแต่ละคนก็ทำแต่ละส่วน เช่น บางคนทำแค่ Facade บางคนทำ Core บางคนทำราวกันตก บางคนทำระบบท่อ บางคนทำพื้น และอื่นๆอีก เป็นต้น
ภาพตัวอย่างว่าแต่ไฟล์หรือแต่ละส่วนของงานจะมี Instruction ว่าต้องทำอะไรบ้าง
อย่างภาพนี้คือตัวอย่างว่าแต่ละคนจะรู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไรต่อไป มีงานอะไรที่ยังไม่เสร็จ และต้องทำต่อ ซึ่งไฟล์นี้อาจจะรับมาจากคนอื่นต่อ หรือต้องแก้ไขงานต่อจากคนอื่นก็เป็นไปได้ ฉะนั้นการสื่อสารกันและการทำงานให้ได้มาตรฐานนั้นจึงสำคัญ
แต่ละคนสามารถ contribute ให้กับโปรเจคในแต่ละส่วน โดยวิธีการทำงานไม่ใช่แบบเดิมที่แต่ละคนแยกกันไปทำ แล้วก็ปริ้นมาคุยกัน หรือส่งไฟล์หากันแล้วเอามาเทียบกัน แต่ทุกคนทำงานร่วมกันภายใต้โปรเจคเดียวกัน ภายใต้ไฟล์หลักอันเดียวกัน แต่ทำกันคนละส่วน และเมื่อเราทำได้สักระยะ ก็สามารถส่ง commit หรือ submit สิ่งที่เราทำเข้าไป แล้วถ้าคนที่ดูแลอยู่ยอมรับการเพิ่มเติมหรือแก้ไขนี้ ไฟล์ที่คนอื่นๆทุกคนทำงานอยู่ก็จะอัพเดทไปด้วยพร้อมๆกัน
โดยตัวอย่างที่ถูกพูดถึงนั้นอยู่บนบริบทของการทำงานร่วมกันหลายร้อยคนในโปรเจคเดียวกัน มันคงจะยากมากๆถ้าแต่ละคนต่างมีไฟล์ของตัวเองที่ทำแยกกันโดยที่กว่าจะรู้ว่าที่แต่ละคนทำมามันขัดแย้งกันก็ต้องใช้เวลานาน
จริงๆตรงนี้มีเรื่องการใช้ Cloud Service ด้วย แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรมาก
การออกแบบ (Design)
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รวมสองเรื่องแรกเข้าด้วยกัน ก็คือว่า ถ้าเรารู้จักเครื่องมือของเรา และมีการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่ดี เราก็จะสามารถควบคุมการออกแบบของเราได้ดี ซึ่งการออกแบบนี้ ยังมีความหมายรวมไปถึงการก่อสร้างและอาคารเมื่อสร้างเสร็จแล้วด้วย เพราะการเขียน Script และ การร่วมมือกับฝ่ายๆอื่นๆ ไม่ได้ช่วยให้เราออกแบบสิ่งที่วาดอยู่ในกระดาษเท่านั้น แต่ให้เราออกแบบวิธีการก่อสร้างอีกด้วย (จริงๆตรงนี้เป็นเรื่องที่อ.ที่คณะก็เคยพูดถึงเหมือนกัน เรื่องที่ว่าสถาปนิกควรออกแบบวิธีการก่อสร้างด้วย) ซึ่งผมคิดว่ามันก็สะท้อนออกมาในงานออกแบบของ Zaha Hadid Architects อย่างเห็นได้ชัดนะ
เพราะไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบงานวืบๆแบบ Zaha แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเค้ามีวิธีการทำงานและความรู้ในการสร้าง ความรู้ในเรื่องวัสดุที่ดี ซึ่งตรงนี้ก็ได้ถูกพูดถึงในการบรรยายนี้เหมือนกันว่า ทาง Zaha ก็ชอบให้ทางผู้รับเหมาสร้างแบบจำลองเท่าขนาดจริงเพื่อศึกษา และจริงๆแล้วมันก็ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้รับเหมาที่จะทำ แต่ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้ได้ เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้เรื่องวัสดุ ความสามารถของวัสดุ
ไม่ได้หมายถึงวัสดุใหม่ๆนะ แต่หมายถึงวัสดุที่มีอยู่นี่แหละ เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก ก็มีตัวอย่างโปรเจคเล็กๆมาให้ดูว่าใช้ Robotic Arm (แขนหุ่นยนต์) ในการดัดเหล็ก โดยหลังจากได้ฟอร์มที่ต้องการแล้ว ก็ต้องมาดูว่าจะดัดเหล็กสำหรับเป็นแกนคอนกรีตมากน้อยแค่ไหน และเพื่อความแม่นยำ จึงใช้ Robotic Arm ในการจับเหล็กมาดัด และก็ต้องดัดไปให้ไกลกว่าที่ต้องการด้วย เพราะเหล็กมันจะเด้งกลับนิดนึง
วีดีโอนี้เป็นตัวอย่างของการจำลองการทำงานของ Robotic Arm ที่ใช้ดัดเหล็ก จำลองในโปรแกรมก่อนให้มันเริ่มงานจริงๆ
ส่วนอันนี้เป็นงานที่เสร็จแล้ว เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก วางอยู่ในป่า ผมว่ามันก็ส่วนดีนะ พอแบบ ตกอยู่ใต้เงา
สรุป
ด้วยเทคโนโลยี ความต้องการ ช่วงเวลา สังคม และอื่นๆอีกมากมาย ได้ทำให้บทบาทของสถาปนิกเปลี่ยนแปลงไป วิธีการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป สถาปนิกในปัจจุบันควรรู้จักเปิดกว้าง ไม่ใช่แค่กับคนเท่านั้น แต่กับเครื่องมือ และวิธีการต่างๆด้วย บางครั้งคนที่เป็นกุญแจในการแก้ไขปัญหา อาจจะเป็นคนที่เราไม่ชอบ หรือคนที่เราคิดไม่ถึง เช่น คนนอกวงการ หรือเด็กจบใหม่
เพราะถ้าเรามาทำโปรเจคร่วมกัน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน ที่จะสร้างงานที่ดีมีคุณภาพ เราก็ควรจะมาทำโปรเจคร่วมกันเพื่อสร้างงานที่ดีมีคุณภาพ พยายามร่วมมือกัน และก้าวหน้าอยู่เรื่อยๆ
"We have to keep advancing."
จริงๆถ้าใครสนใจเกี่ยวกับ Zaha Hadid ลองอ่านบทสัมภาษณ์ได้ ที่นี่ ครับ