R&D ในบริษัทสถาปนิก ตอนที่ 1
AedasComputationFoster + PartnersParametricสถาปัตยกรรม
สวัสดีครับ วันก่อนผมได้อ่านวารสาร Architectural Design ฉบับเดือนมีนาคม/เมษายน ปี 2013 เรื่อง Computation Works: The building of Algorithmic Thought แล้วมีส่วนหนึ่งที่ผมชอบมาก ก็คือส่วนที่เกี่ยวกับแผนกวิจัยและพัฒนา (Research and Development) หรือเราเรียกย่อๆว่าแผนก R&D ในบริษัทสถาปนิก ต่างๆเช่น Foster + Partners, Aedas, SOM และ Herzog & De Meuron โดยผมอยากเล่าถึงเรื่องราวของทีมในบริษัทเหล่านี้ ทั้งที่มา แนวคิด และวิธีการทำงานครับ
จะขอแบ่งเป็นสองตอนโดยตอนแรกจะเป็นเรื่องของ Foster + Partners และ Aedas ครับ
Specialist Modelling Group (SMG) ของ Foster + Partners
บรรยากาศการทำงานของ SMG ในบริษัท
SMG ก่อตั้งโดย Hugh Whitehead เมื่อปี 1998 เพราะบริษัทต้องการนำความสามารถด้านคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อค้นหารูปทรงทางสถาปัตยกรรมใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมากกว่าเดิม
โดยในตอนต้นนั้นมีแต่สถาปนิกที่เก่งด้าน Digital แต่ในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ ทีมมีคนจากหลากหลายแขนงมากขึ้น เช่นมาจาก ศิลปกรรม คณิตศาสตร์ ออกแบบอุสาหกรรม วิศวกรรมเครื่องกล ฟิสิกส์อาคาร การผลิตสิ่งกายภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (Physical Computing) การประกอบ (Fabrication) และด้านเสียง
ความหลากหลายของคนในทีมทำให้ทีมมีมุมมองและความสามารถที่กว้าง ทีมสามารถค้นหาคำตอบ หรือสร้างกระบวนการที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ถ้าหากมีแต่คนที่เหมือนๆกัน หรือถ้ามีแต่สถาปนิกนั่นเอง แม้ว่าการที่คนมาจากหลากหลายแขนงอาจจะทำให้มีปัญหาด้านการสื่อสารกัน แต่ด้วยความที่ทุกคนต่างสื่อสารกันผ่านสื่อ Digital ทำให้สามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ไม่ยาก
ในการทำงานช่วงแรกๆ ทีม SMG ทำงานมาก่อนที่จะมีโปรแกรมด้าน Parametric สายตรงเช่น Grasshopper ของ Robert McNeel & Associates กับ GenerativeComponents (GC) จาก Bentley Systems ด้วยความที่สมัยนั้นยังไม่มีโปรแกรมพวกนี้ การทำงานของ SMG ในช่วงแรกๆจึงเป็นการพยายามประยุกต์ใช้โปรแกรมต่างๆเท่าที่มีอยู่ในตลาด ทีมต้องเขียน script เล็กเพื่อปรับข้อมูลต่างๆ หรือเชื่อมต่อโปรแกรมต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งในขณะนั้นมีคนทำได้แค่ไม่กี่คนเท่านั้น
“..., over the last decade the skills to create parametric models and write computer scripts have become much more widespread, with scripting even forming part of the curriculum at some architecture schools.”
ความเปลี่ยนแปลงหลักๆในช่วงสิบปีมานี้คือการที่เรื่องของการใช้ Parametric โปรแกรม หรือการเขียน script ต่างๆได้ขยายออกไปในวงกว้าง สถาบันสอนด้านสถาปัตยกรรมหลายๆแห่งก็สอนเรื่องพวกนี้กันตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ทำให้แทบทุกคนในทีมมีความสามารถในการผลิตโปรแกรม หรือกระบวนการทำงานของตัวเองได้เกือบหมด อย่างล่าสุดนี้เราก็ให้คนในทีมพัฒนาโปรแกรมของตัวเองก่อนเข้าไปทำงานกับทีมออกแบบ ยกตัวอย่างผลงานเช่น Kangaroo ของ Daniel Piker และ Pachyderm ของ Arthur van der Harten
การพัฒนาของทีมในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ทีมกลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการผลิตงานของบริษัท ที่ยืนอยู่บนฐานของงานวิจัย ทีมในปัจจุบันมีลักษณะการทำงานทั้งแบบงานของทีมเอง และแบบเข้าร่วมทำงานกับทีมออกแบบ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโยลีด้วย เช่นการทดสอบระบบและอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนที่จะนำมาใช้กับฝ่ายออกแบบ
จุดแข็งของทีมในปัจจุบันคือความหลากหลายของความเชี่ยวชาญและการไม่ยึดติดกับอุปกรณ์การออกแบบใดๆ
“The strength of today’s team lies in its unique combination of individual expertise and the creative synergies that derive from a broad skills base.”
Computational Design and Research (CDR) ใน Aedas|R&D จาก Aedas
ภาพตัวอย่างการทำงานของ CDR เพื่อหาแนวทางการออกแบบที่ลงตัวในเรื่องของการรับรู้โดยผู้ใช้งานและการมีส่วนร่วมในพื้นที่จากผู้ใช้งาน
CDR ก่อตั้งในปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่เรื่องของ Parametric Modelling กำลังดัง โดยในขณะนั้นมีบริษัทสถาปนิกหลายบริษัทสร้างทีมวิจัยภายในที่เน้นเกี่ยวกับเรื่องของ Advanced Geometry หรือ Modelling Group แต่ Aedas นั่นคิดต่างกันออกไป Aedas สนใจที่จะสร้างทีมที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสำรวจเรื่องของพฤติกรรม การเคลื่อตัว การจัดการ การใช้งาน การรับรู้ และเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ (self-organisation, space syntax, agent-based models for architecture, human-centric design, etc.)
ด้วยแนวคิดนี้ CDR จึงจับเรื่องของ Space syntax เข้ามาในการคิดงานสถาปัตยกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ยังเป็นเพียงงานวิจัยที่ยังขาดการประยุกต์ใช้กับกระบวนการออกแบบ Space syntax คือการมองพื้นที่ที่เป็นลักษณะของ field ไม่ใช่ space เป็นการมองถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่จากการเคลื่อนไหว หรือกิจกรรม และความสัมพันธ์ของมนุษย์ โดย Space syntax นี้เป็นแนวคิดของ Bill Hillier ซึ่งเป็นงานต่อยอดมาจาก Paul Coates, John Frazer ที่เป็นแนวหน้าของการคิดเรื่อง self-organisation ในงานสถาปัตยกรรม และงานวิจัยด้านคณิตศาสตร์ของ space ของ Philip Steadman และ Michael Batty
อีกส่วนหนึ่งที่ CDR นำเข้ามาในสถาปัตยกรรมคือเรื่องของ Wesenhafte Gestalt (ภาษาเยอรมัน) ซึ่งหมายถึงการเกิดขึ้นของรูปทรงที่มาจากการเกิดปฏิสัมพันธ์ของพฤติกรรมของมนุษย์และสภาพแวดล้อม
“A building is seen as a place of human occurrences where geometric appearances play a subordinate role.”
Wesenhafte Gestalt เป็นวิธีเข้าถึงสถาปัตยกรรมของ Hans Scharoun ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของ Hugo Häring ในขณะที่คนทั่วๆไปมองเรื่องของ Organic Architecture ไปที่สถาปนิกอย่าง Louis Sullivan และ Frank Lloyd Wright แต่ทาง Aedas ชี้ว่าจริงๆแล้วต้นกำเนิดมากจากสถาปนิกชาวเยอรมันอย่าง Hugo Häring และ Hans Scharoun ต่างหาก โดย Wesenhafte มีความหมายถึงแก่นแท้ของการมีอยู่ (essence of being) และ Gestalt หมายถึงโครงสร้าง รวมกันแล้วก็คือโครงสร้างที่เกิดจากการมีอยู่ของมนุษย์ หรือเกิดจากพฤติกรรมหรือการใช้งานของมนุษย์นั่นเอง ด้วยแนวคิดนี้ รูปทรงต่างๆในสถาปัตยกรรมจึงเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักๆจึงเป็นเรื่องของมนุษย์ เรื่องของการมีอยู่ การใช้งาน พฤติกรรม และการมีตัวตน
Note 1: Hans Scharoun คือสถาปนิก คนที่เข้าฟังบรรยายของ Martin Heidegger ในปี 1951 แล้วได้รับแรงบัลดาลใจอย่างมาก การบรรยายครั้งนั้นภายหลังถูกตีพิมพ์ในบทความชื่อ Building Dwelling Thinking)
**Note 2:**จริงๆแล้วมันมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกนะ แต่ผมคิดว่าเท่านี้ก็น่าจะเห็นแล้วว่าทีม CDR ของ Aedas นั้นแม้จะทำงานกับคอมพิวเตอร์ แต่ก็เน้นไปที่เรื่องของมนุษย์ เรื่องของพฤติกรรม ไม่ใช่เรื่องของการผลิตรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่โฉบเฉี่ยวหรือประหลาดๆ
ตัวอย่างการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานในงานสถาปัตยกรรมของ
สรุป
เป็นยังไงบ้างครับ เรื่องราวย่อๆของแผนก R&D ในบริษัทสถาปนิก อย่าง Foster + Partners และ Aedas เราจะเห็นได้ถึงความแตกต่างในแนวคิดของทั้งสองบริษัท โดยแสดงออกถึงการที่คอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อช่วยในการออกแบบเท่านั้น ตัวแกน หรือแนวคิดของการออกแบบนั้นยังอยู่ไม่ว่าจะด้วยเครื่องใดๆ หรือไม่มีเครื่องมือเลยก็ตาม
ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมอยากเน้นย้ำอย่างมากสำหรับการมองเรื่องเหล่านี้นะครับ เราไม่ควรมองว่าเครื่องมือมันคือทั้งหมด มันคือทุกอย่าง ควรมองว่ามันเป็นแค่ตัวกลางที่จะสื่อความคิดของเราออกไปเท่านั้น เครื่องมือที่เหมาะสมก็จะทำให้สิ่งที่ออกไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น