maipatana.me

Two Glass Skyscrapers โดย Mies van der Rohe

Mies van der Roheสถาปัตยกรรม

สวัสดีครับ อย่างแรกเลยจะเห็นว่าหัวเรื่องไม่มีคำว่า [แปล] ใช่แล้วครับ เป็นเพราะว่าครั้งนี้จะไม่แปล จะมาเล่าให้ฟังมากกว่า เรื่องที่ผมจะเล่าก็คือเรื่องของอาคารสำนักงานสองอาคารที่ Mies van der Rohe ออกแบบในช่วงปี 1921 และ 1922 โดยชื่อของอาคารก็คือ อาคารสำนักงาน Friedrichstrasse (1921) กับ อาคารสำนักงาน Glass Skyscraper (1922) สองอาคารนี้ถูกออกแบบก่อน [แปล] The Office Building โดย Mies van der Rohe นะครับ แล้วเจ้าสองอาคารนี้คุณ Mies (เหมือนกับ The Office Building) ได้เขียนถึงในเรียงความชื่อว่า Two Glass Skyscrapers ด้วยครับ ฉะนั้นผมก็จะเล่าถึงเจ้าสองอาคารนี้ผ่านเรียงความนี้ และบางส่วนเพิ่มเติมจากที่ Philip Johnson เขียนถึงด้วยนะครับ


Two Glass Skyscrapers by Mies van der Rohe

ตึกกระจกระฟ้าทั้งสอง โดย Mies van der Rohe

Two_Glass_Skyscrapers_Friedrichstrasse_Mies van der Rohe

รูปอาคารสำนักงาน Friedrichstrasse. 1921: source

อย่างแรกเลยเราควรทำความรู้จักกับเจ้าตึกสองตึกนี้ก่อน ซึ่งก็คืออาคารสำนักงาน Friedrichstrasse กับ อาคารสำนักงาน Glass Skyscraper โดยทั้งสองอาคารนี้ถือเป็นจุดสำคัญของการออกแบบของ Mies van der Rohe เลยทีเดียว เพราะถ้าเราเคยได้ยินมาบ้างว่า Mies ชอบออกแบบอาคารกระจกเยอะๆแล้วละก็ สองอาคารนี้คือสองอาคารแรกที่ Mies ใช้กระจกเยอะขนาดนี้ เยอะจนเยอะกว่านี้คงจะไม่สามารถทำได้แล้วด้วย

เหมือนที่ Philip Johnson บอกว่า 'No building could be more "glass" than these.' 

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ผมคงต้องขอเน้นในเรื่องที่ว่าสองอาคารนี้คือจุดเปลี่ยนของแนวทางการออกแบบของ Mies van der Rohe เลย ฉะนั้นเราควรจะรู้สักนิดว่าก่อนหน้านี้งานออกแบบของ Mies นั้นมันเป็นประมาณไหนนะครับ จึงจะรู้ได้ว่ามันเปลี่ยนยังไง!

ก็ขอย้อนไปงานที่ใกล้สุด (ใกล้สุดแปลว่านับถอยจากปี 1921 ลงไป) ก็คือ Kempner House ที่ Berlin ปี 1919 โดยเป็นงานแนว Romantic งานสุดท้ายที่เขาออกแบบ ซึ่งเป็นแนวที่เดินเกือบจะตามทางของ Schinkel Tradition (ชื่อแนวทางการออกแบบ) จริงๆแทบทุกงานของ Mies ก่อนหน้าเจ้าอาคารสำนักงานสองอาคารนี้ก็เป็นแนว Schinkel ทั้งสิ้น ซึ่ง Schinkel นี่เป็นชื่อของสถาปนิกที่สุดยอดที่สุดคนหนึ่ง ชื่อว่า Karl Friedrich Schinkel (1781-1840) โดยรายละเอียดของคุณ Schinkel จะไม่ถูกอธิบายตรงนี้ แต่จะให้เห็นว่างานออกแบบของ Mies ก่อนหน้า Two Glass Skyscrapers นั้่นเป็นอารมณ์ประมาณไหน

Kempner_House_Mies_Van_Der_Rohe

รูป Kempner House, Berlin. 1919: source - Mies van der Rohe by Philip Johnson (1978)

เอาละมาเข้าเรื่องกันดีกว่า คือช่วงนั้นมันเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย และก็พร้อมกับการเกิดขึ้นของอะไรหลายๆอย่างเช่น de Stijl ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์, Constructivism และ Suprematism ที่ประเทศรัสเซีย และ Dadaism ที่ซูริก แต่สำหรับที่เยอรมันช่วงหลังสงคามโลกทั้งที่ 1 นั้น จิตรกรรมโดยเฉพาะแนว Expressionism มีอิทธิพลต่องานสถาปัตยกรรมอย่างมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมไปถึงการมาของวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่มีผลต่อเทคโนโลยีการก่อสร้าง และวัสดุด้วย

"Never in its history had architecture been so influenced by painting." - Philip Johnson

ในช่วงเวลานี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาปนิกแทบทุกคน ไม่ใช่เฉพาะ Mies ก็คือการเอาของตกแต่งออกจากพื้นผิวของอาคาร การออกแบบเริ่มแสดงออกถึงวัสดุที่เกิดจากการใช้เครื่องจักร ความก้าวหน้าทางอุสาหกรรมการผลิต พวกเหล็ก กระจก เรื่องของสัจจะของวัสดุ สัจจะของโครงสร้าง "Structural Honesty"  โดยหลักๆก็คือว่าสิ่งที่ผลิตจากเครื่องจักรเริ่มมีความสำคัญกว่าพวกของทำมือ พวกตกแต่งสวยงาม (ที่ถูกมองว่าตกแต่งมากเกินไป)

จริงๆตรงนี้ต้อง note นิดนึงว่ามันมีคนคิดอะไรประมาณนี้มาก่อนหน้าแล้ว เช่น Adolf Loos ที่เขียนเรียงความเรื่อง Ornament and Crime ในปี 1910 ที่เค้าบอกประมาณว่ายิ่งเจริญจริงต้องตกแต่งน้อยๆ เรียบๆ เนียนๆ อะไรประมาณนั้น

Two_Glass_Skyscrapers_Glass_Skyscraper_Mies_Van_Der_Rohe

รูปอาคารสำนักงาน Glass Skyscraper. 1922: source

**และแล้วก็มาถึง Two Glass Skyscrapers จนได้ (ลากไปที่อื่นซะไกล 55) **

ก่อนที่ Mies จะเขียนถึงอาคารที่เค้าออกแบบ เค้าค่อยๆสร้างวิธีคิดขึ้นมา ก็คือว่า เค้าบอกว่า พวกอาคารสูงๆเนี่ย แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างที่น่าประทับใจตอนก่อสร้าง แต่พอใกล้จะเสร็จก็เอาโครงสร้างเหล่านั้นไปซ่อนภายใต้ ความยุ่งเหยิงของความไร้ความหมายและไม่มีสาระของผิวภายนอกที่แสดงถึงรูปทรง ("...meaningless and trivial forms.") โดยอาคารเหล่านั้นมีแค่ขนาดที่ใหญ่ ที่แสดงออกถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างเท่านั้น 

Note: ดูตรงนี้ดีๆนะครับ Mies พยายามจะพูดถึงอาคารปกติที่มักซ่อนโครงสร้างเอาไว้ โดยผมคิดว่ามุมมองตรงนี้สำคัญมาก เพราะสมัยที่ Mies ทำงานกับ Peter Behrens นั้น คุณ Behrens (อาจารย์ของ Mies และหัวหน้าของ Walter Gropius และเป็นคนที่ Le Corbusier มาขอฝึกงานด้วยช่วงสั้นๆ) นั้นมีวิธีการเข้าหาสถาปัตยกรรมจากจุดยืนของ Form แต่การที่ Mies ขึ้นต้นเรียงความด้วยการพูดถึงโครงสร้างนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก Hendrik Petrus Berlage (1859-1934) ซึ่งเป็นคนที่เทียบเคียงได้กับ Behrens แต่แตกต่างกันตรงที่ Berlage ใช้วิธีเข้าหาสถาปัตยกรรมจากจุดยืนของโครงสร้าง

แต่ประโยคสุดท้ายของพารากราฟแรกของ Mies ใน Two Glass Skyscrapers นั้นก็ยังจบด้วยการพูดถึง form ว่า "แทนที่จะแก้ปัญหาใหม่ๆด้วย form เก่าๆ, เราควรพัฒนา form ใหม่ๆจากตัวของปัญหาใหม่ๆนั่นเลยต่างหาก" ซึ่งตรงนี้จะเห็นชัดมากในงานอาคารสำนักงานทั้งสองนี้ ที่อาคารหนึ่งเป็นทรงแหลมๆพุ่งๆ กับอีกอาคารหนึ่งเป็นโค้งๆฟรีฟอร์มๆ

Two_Glass_Skyscrapers_Glass_Skyscraper_Plan_Mies_Van_Der_Rohe

รูปแปลนอาคารสำนักงาน Glass Skyscraper. 1922: source

ในพารากราฟที่สอง Mies แสดงเหตุผลของการใช้กระจกของเขาว่า: (ตรงนี้ผมขอแปลทั้งพารากราฟเลยจะได้เห็นเหตุผลชัดๆ พารากราฟมันสั้นๆครับ)

"เราสามารถเห็นสาระ (สาระหมายถึงหลักคิด วิธีก่อสร้าง หลักการ - ผู้แปล) ของโครงสร้างแบบใหม่นี้ได้อย่างชัดเจนที่สุดเมื่อเราใช้กระจกเป็นผนังภายนอก กระจกซึ่งปัจจุบันสามารถนำมาใช้งานได้อย่างสมเหตุสมผลเนื่องจากอาคารที่มีโครงสร้างแบบเสารับน้ำหนัก ผนังภายนอกจะไม่ได้รับน้ำหนัก การใช้กระจกส่งผลให้เกิดทางออกใหม่ๆ"

จะเห็นว่า Mies ตั้งประเด็นเรื่องของการมองทะลุให้เห็นโครงสร้าง โดยหวังว่ามันจะทำให้เกิดทางออกใหม่ๆ โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือเรื่องของ feasibility (ความสมเหตุสมผลในการนำมาใช้) 

Two_Glass_Skyscrapers_Friedrichstrasse_Plan_2

รูปแปลนอาคารสำนักงาน Friedrichstrasse. 1921: source

พารากราฟที่สาม Mies เริ่มเข้ารายละเอียดเกี่ยวกับอาคารสำนักงาน Friedrichstrasse ว่า form ของมันเป็นแบบ Prismatic เพราะเค้าคิดว่ามันเหมาะที่สุดกับ site รูป 3 เหลี่ยมนี้ โดย site นี้อยู่ที่สถานีรถไฟ Friedrichstrasse นะครับ แล้วที่มันหยักๆแบบนั้นก็เพราะเค้าไม่อยากให้กระจกเป็นแผ่นใหญ่ๆแผ่นเดียวนะครับ เลยต้องทำหยักๆเพื่อแยกพื้นผิวของเปลือกอาคารออกเป็นช่วงๆ

ประสบการณ์ของ Mies ตรงนี้ที่ได้จากการทำงานกับโมเดลทำให้เขาเรียนรู้ว่าอาคารที่เป็นกระจกแบบที่เค้าออกแบบมีเรื่องหนึ่งที่แตกต่างจากอาคารแบบเก่าๆคือความสำคัญของ ภาพสะท้อน (reflection) นั้นสำคัญกว่าเรื่องของ แสงและเงา (light and shadow) ในแบบอาคารทั่วๆไป ตรงนี้สำคัญมากนะครับ แปลอีกอย่างคือว่าการออกแบบอาคารทั่วๆไปที่ไม่ใช่กระจกเยอะๆ เราทำโมเดลส่วนหนึ่งก็เพื่อดูผลกระทบจากแสงและเงา แต่สำหรับอาคารกระจกนั้นเราดูเรื่องของการสะท้อนนั่นเอง

สำหรับอาคาร Glass Skyscraper นั้น Mies ได้ใช้ประสบการณ์จากการศึกษาและทดลองก่อนหน้านี้เพื่อลองอะไรใหม่ๆต่อไปจากเดิม เช่นฟอร์มโค้งๆ แต่ที่ออกแบบโค้งๆก็ไม่ใช่เพราะว่าอยากจะโค้งก็โค้ง Mies อธิบายว่าที่โค้งๆนั้นมีอยู่ 3 ตัวแปรสำคัญคือ

  1. ความสว่างที่เพียงพอสำหรับพื้นที่ภายใน

  2. แมส (mass) ของอาคารเมื่อมองจากถนน

  3. การเล่นกับการสะท้อน

Mies ยังยืนยันอีกครั้งว่าเค้าได้พิสูจน์จากโมเดลว่าการคำนึงถึงเรื่องแสงและเงาไม่ช่วยอะไรในการออกแบบอาคารกระจกทั้งหมด

"I proved in the glass model that calculations of light and shadow do not help in designing an all-glass building."

นอกจากบันไดกับลิฟต์แล้ว องค์ประกอบอื่นๆของอาคารถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับการใช้งานและเพื่อเป็นอาคารกระจกโดยเฉพาะ


จบละครับ สุดท้ายก็แปลตรงๆเยอะเหมือนกัน 55 แต่ก็คืออยากให้เห็นว่าอาคารกระจกเยอะๆที่ Mies van der Rohe ออกแบบเป็นอาคารแรกๆนั้นเป็นยังไง และมีแนวคิดแบบไหน ซึ่งจะเห็นได้จาก The Office Building อาคารต่อไปที่เค้าออกแบบ ว่าแนวคิดนั้นก็เป็นไปคนละแบบกับ 2 อาคารนี้ครับ 

แต่อย่างหนึ่งที่รับรู้ได้จากสถาปนิกสมัยนั้นก็คือความตื่นเต้นกับเหล็ก กระจก อะไรแบบนี้มากๆ และอยากจะลองใช้งาน ซึ่งเราก็ลองมองไปรอบตัวเราว่าผ่านมาเกือบ 100 ปีแล้ว สถาปัตยกรรมในตอนนั้นกับตอนนี้มีความเหมือนความต่างกันอย่างไร อะไรที่เรายังไม่พัฒนาต่อมาจากเขา อะไรที่เราถอยห่างออกมาแล้วเป็นต้นนะครับ :D