maipatana.me

The Lesson of Rome โดย Le Corbusier

Le Corbusierสถาปัตยกรรมหนังสือ

The Lesson of Rome เป็นบทหนึ่งในหนังสือ Toward an Architecture (Vers une Architecture) เขียนโดย Le Corbusier ซึ่งเป็นบทที่มีคำนำเริ่มต้นที่ผมชอบเป็นพิเศษ ซึ่งผมจะแปลเนื่อหาส่วนนั้นและเล่าถึงเนื้อหาภายในบทนี้สักเล็กน้อยนะครับ


"เธอลงแรงกับหิน กับไม้ กับคอนกรีต เธอเอาพวกมันมารวมกันเป็นบ้าน เป็นพระราชวัง; นี่คือการก่อสร้าง ความหลักแหลมในการประดิษฐ์ได้ทำงาน

แต่อยู่ๆเธอก็ได้จับใจของฉัน เธอปฏิบัติดีต่อฉัน ฉันมีความสุข ฉันบอกว่า 'มันช่างสวยงาม' นี่คือสถาปัตยกรรม ศิลปะได้ปรากฏออกมา

บ้านของฉันนั้นใช้งานได้ ขอบคุณ เหมือนที่ฉันขอบคุณเหล่าวิศวกรของรางรถไฟและบริษัทโทรศัพท์ เธอยังไม่จับใจฉัน

แต่ผนังที่สูงเสียดฟ้าอย่างมีระเบียบที่ทำให้ฉันหวั่นไหว ฉันรับรู้ได้ถึงความตั้งใจของเธอ เธอช่างอ่อนโยน รุนแรง มีเสน่ห์ หรือสง่างาม หินเหล่านั้นของเธอบอกกับฉัน เธอตรึงฉันไว้ตรงนี้และตาของฉันก็จ้องมอง ตาของฉันมองบางอย่างที่บ่งบอกถึงความคิด ความคิดที่ชัดเจนในตัวเองโดยไม่ต้องใช้คำพูดหรือเสียง แต่เพียงผ่านการกระจายตัวของแสงที่มีความสันพันธ์ต่อกันและกัน การกระจายตัวของแสงนั้นเป็นไปในแบบที่แสงแสดงตัวของมันออกมาอย่างชัดเจน ความสันพันธ์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับการใช้งานได้จริงหรือการอธิบายใดๆ พวกมันคือการสร้างที่เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ของสมองของเธอ พวกมันคือภาษาของสถาปัตยกรรม ด้วยวัสดุต่างๆที่แสงกระทบ วัสดุที่เรียงกันภายใต้การใช้งานตามข้อกำหนด ข้อกำหนดที่เธอจะต้อง ไปให้ไกลกว่านั้น เธอได้สร้างความสันพันธ์ต่างๆที่ทำให้ฉันหวั่นไหว นั่นคือสถาปัตยกรรม"


เนื้อความข้างบนเป็นไปตามเนื้อหาที่ Le Corbusier พยายามอธิบายตั้งแต่บทแรกของหนังสือที่ชื่อ Aesthetic of Engineer, Architecture ที่พยายามจะแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างอะไรคือสถาปัตยกรรม (ที่สถาปนิกควรที่) กับอะไรคือวิศวกรรม (เช่นการก่อสร้าง) และใช้คำว่า "หวั่นไหว" (move) เป็นตัวสำคัญว่า สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่ทำให้คนหวั่นไหว

The Lesson of Rome โดย Le Corbusier

เอาละ มาดูเนื้อหาส่วนต่อๆมาดีกว่า ว่า "บทเรียนของกรุงโรม"(Lesson of Rome) เป็นอย่างไร

The_Lesson_of_Rome_Pantheon

Pantheon: source

ผมอ่านบทนี้แล้วนึกถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 3 ที่บอกว่า "การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว" Le Corbusier ก็พยายามจะบอกอย่างเดียวกันเกี่ยวกับกรุงโรม โดยเริ่มจากความดีของยุคโรมโบราณ ไปยุคไบเซนไทน์ ไปหาไมเคิลแองเจโล่ และก็ยุคปัจจุบัน

Le Corbusier เล่าว่ากรุงโรมในสมัยโบราณ (Ancient Rome) ยุ่งอยู่แต่กับการยึดครอง การปกครอง การทำธุรกิจ การกำหนดสิ่งต่างๆให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่สำหรับสถาปัตยกรรมแล้วละก็ หึหึหึ... ไม่ได้ทำอะไรเลย!!! หมายความว่าไม่ได้ทำการพัฒนาการออกแบบให้รุ่งเรืองเลย จะมีก็เพียงเรื่องวิธีการก่อสร้าง แล้วก็เรื่องของการใช้รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานมาเป็นโครงโดยรวมของอาคาร

"In sum, they built superb chassis but designed dreadful coachwork like the landaus of Louis XIV."

ก็คือว่ามีรูปทรงพื้นฐานที่ดีแต่การออกแบบแย่นั่นเอง

Le Corbusier ใช้ตัวอย่างของ Pantheon, Colosseum และอีกหลายอาคารเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงถึงการใช้รูปทรงบริสุทธิ์ (Pure Form) พวกทรงกลม สีเหลี่ยม สามเหลี่ยม ทรงกระบอก พีระมิดฐานสี่เหลี่ยม พีระมิดฐานสามเหลี่ยม ซึ่งล้วนแต่เป็นรูปทรงที่ Le Corbusier มองว่าเหมาะสม สมควร ชัดเจน สง่างาม

The_Lesson_of_Rome_Ancient_Rome

Ancient Rome: source

Le Corbusier ได้เล่าต่อมาในยุคไบเซนไทน์ (Byzantine) โดยยกตัวอย่าง Santa Maria ที่ Cosmedin เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ในการออกแบบ ในการกำหนดจังหวะ (Rhythm) กำหนดสัดส่วน (Proportion) เพื่อให้คนได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ของงานออกแบบ ซึ่งเชื่อมต่อกับความรู้สึกของคน

"...they create rhythms, they speak of numbers, they speak of relationships, they speak of mind."

โดยย่อแล้ว Le Corbusier ได้ใช้ตัวอย่างเพื่อแสดงให้เห็นถึงงานออกแบบในสมัยไบเซนไทน์ที่มีการนำหลักคณิตศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในงานสถาปัตยกรรมนั่นเองครับ

Note: ผมต้องขอเสริมตรงนี้นิดนึงว่า Le Corbusier เชื่อว่าคณิตศาสตร์เป็นภาษาสากล ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเข้าใจสถาปัตยกรรมได้ผ่านคณิตศาสตร์นี้

The_Lesson_of_Rome_Santa_MAria_Cosmedin

Santa Maria ที่ Cosmedin: source

ต่อมา Le Corbusier เล่าถึงไมเคิลแองเจโล่ (Michelangelo) ด้วยอารมณ์ของการมองไมเคิลแองเจโล่เป็นแบบอย่าง เป็นไอด้อล โดยสิ่งที่น่าเอาเป็นแบบอย่างนั้นก็คือการมีความชอบ ความหลงไหล (passion) ในสิ่งที่ทำ

"There is no art without emotion, no emotion without passion."

ตอนท้ายๆของช่วงนี้มีการแสดงออกถึงความสำคัญของนักออกแบบ ประมาณว่า สิ่งดีๆอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้ามีนักออกแบบที่ดี และถ้าผู้ว่าจ้างให้นักออกแบบดีๆทำงาน

สุดท้ายคือโรมในยุคปัจจุบัน (Rome and Us) เอาง่ายๆเลยนะ ก็คือว่า จะไปดูกรุงโรมนะ ไม่ใช่ดูเพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อทำตามแบบเปะๆ ไม่ใช่จะไปฟื้นคืนชีพกรุงโรมขึ้นมาใหม่ แต่ดูเพื่อเรียนรู้ แต่สำหรับพวกคนไม่ค่อยมีความรู้ พวกคนไม่ฉลาด หรือพวกนักเรียนสถาปัตย์นะ ไปดูแล้วละก็มีแต่เสียกับเสีย ผมคิดว่าพารากราฟสุดท้ายของช่วงนี้อธิบายได้ดีทีเดียว

"บทเรียนของกรุงโรมมีไว้สำหรับคนฉลาด คนที่รู้จักและสามารถชื่นชม คนที่สามารถต้านทาน คนที่สามารถตรวจสอบ กรุงโรมคือจุดจบของคนที่ไม่รู้อะไรเป็นอะไร การเอานักศึกษาสถาปัตยกรรมไปไว้ในกรุงโรมคือการทำให้เกิดบาดแผลไปตลอดชีวิต พวกนักออกแบบชาวฝรั่งเศษที่ได้ทุนไปอยู่ที่กรุงโรม (Prix de Rome) และ Villa Medici คือมะเร็งร้ายของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส"


จบละครับ กับ The Lesson of Rome โดย Le Corbusier ผมพิมพ์เสร็จก็คิดว่าคนอ่านจะได้สาระอะไรไหมนะ เพราะดูแล้วสาระน้อยเหลือเกิน (55) จริงๆเนื้อหามันวนไปวนมาอยู่กับไม่กี่เรื่องแหละครับ เรื่องของวิศวกรรมกับสถาปัตยกรรม เรื่องของปริมาตรหรือฟอร์ม (Volume) เรื่องของพื้นผิว (Surface) เรื่องของแปลน (Plan) เรื่องของการนำหลักคณิตศาสตร์มากำหนดจังหวะ ระยะห่างต่างๆ เท่านี้เองครับสำหรับหนังสือเล่มนี้

ผมคิดว่าจริงๆแล้วความดีของหนังสือเล่มนี้จริงๆคือภาษาที่ Le Corbusier ใช้มากกว่า คือเค้าใช้ภาษาแบบสวยดีครับ แบบเพ้อๆหน่อย ซึ่งผมแปลออกมามันไม่ได้อารมณ์เท่าไหร่ แนะนำให้ลองหามาอ่านดูครับ มันมี Towards a New Architecture กับ Toward an Architecture นะครับ ซึ่งคล้ายๆกันครับ แปลคนละเวอร์ชั่นกันเท่านั้นเอง Toward an Architecture แปลใหม่กว่าครับ ต่างกันนิดเดียว แต่ผมคิดว่าอ่านง่ายกว่า

:D