maipatana.me

Steven Holl สัมภาษณ์ โดย ArchDaily

Steven Hollปรากฏการณ์วิทยาสถาปัตยกรรม

วันก่อนผมเจอวีดีโอสั้นๆใน Youtube มาวีดีโอนึง เป็นวีดีโอที่คุณ Steven Holl สัมภาษณ์ โดย ArchDaily ผมดูแล้วก็คิดว่าเนื้อหากระชับและน่าสนใจดี จึงอยากเล่าให้อ่านกันนะครับ ตอนแรกผมคิดว่าว่าจะแปลเป็นภาษาไทย แต่คิดว่ามันคงจะเยอะไป จึงเขียนเป็นสรุปตรงที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาดีกว่า (อ้างอิงจากคำพูดตรงๆหลายจุดเหมือนกัน) แต่ยังไงผมก็ยังแนะนำให้ดูวีดีโอต้นฉบับอยู่ดีนะครับ

เนื้อหาในวีดีโอสามารถแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆคือ

  1. พื้นฐาน
  2. การทำงานของคุณ Steven Holl
  3. สิ่งที่อยากฝากแก่นักเรียนและสถาปนิก

ซึ่งถ้าอ่านตามที่ผมเล่าก็จะเป็นไปตามโครงสร้างของวีดีโอเหมือนกันครับ

วีดีโอ Steven Holl สัมภาษณ์ โดย ArchDaily:

* * *

Steven Holl สัมภาษณ์ โดย ArchDaily

Steven_Holl_สัมภาษณ์_โดย_ArchDaily_001

เบื้องต้น

สำนักงานหลักของคุณ Steven Holl อยู่ที่ New York และก็มีอีกทีอยู่ที่ปักกิ่ง มีพนักงานทั้งหมด 45 คน มีงานอยู่แทบทั่วโลก คุณ Steven Holl ต้องเดินทางประมาณ 150 วันต่อปี จึงทำให้ต้องทำงานระหว่างเดินทาง โดยคุณ Holl มีอาวุธลับคือสมุดสเก็ตและก็สีน้ำ วาดๆแล้วก็ถ่ายรูปส่งไปให้พนักงาน

  • สถาปัตยกรรมคืออะไร?

คุณ Holl บอกว่า สถาปัตยกรรมคือ "การร้อยเรียงกันของพื้นที่ว่าง แสง วัสดุและเวลา" ที่ผมใช้คำว่า "ร้อยเรียง" เพราะคุณ Holl มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Intertwining (1996) ซึ่งพยายามชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นถักทอ ร้อยเรียง เชื่อมโยง เชื่อมต่อ เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดในพื้นที่ว่างและเวลา (space and time) ฉะนั้นผมจึงคิดว่าคำว่า manifold ที่คุณ Steven Holl หมายถึงนั้น ไม่ใช่เพียงแต่การมาอยู่ด้วยกัน หรือเรียงต่อกันเฉยๆ แต่มันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ถักทอสอดประสานกันอยู่เป็นเนื้อเดียวเลยครับ 

"The architecture is a manifold of space, light, material and time."

Note: จริงๆตอนที่ผมฟังครั้งแรกนี่ผมนึกถึง Le Corbusier ก่อนเลยนะ เพราะสำหรับ Le Corbusier แล้ว สถาปัตยกรรมคือ "งานชั้นสูง ความถูกต้อง ความงดงามที่เฉิดฉายออกมาของเหล่าปริมาตรที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้แสง" ซึ่งตัวคุณ Le Corbusier นั้นจะให้ความสำคัญกับการมองเห็นมาก ซึ่งก็เป็นปกติของคนตะวันตกนะครับ เพราะถ้าดูจากภาษาแล้วจะเห็นได้ว่าฝั่งตะวันตกนี่ให้ความสำคัญกับการ "เห็น" เป็นอย่างมาก แต่ถ้าฟังบทสัมภาษณ์ของคุณ Steven Holl ไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าสำหรับคุณ Holl แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องของการ "เห็น" เท่านั้น

คุณ Holl ยังบอกอีกว่าสำหรับตัวคุณ Holl นั้น สถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่เป็นทั้ง "สากล และ เจาะจง" _(universal and specific) _

สถานที่ตั้งโครงการ (site) นั้นสำคัญมาก เพราะสถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่ผูกติดอยู่กับสถานที่ สถานที่ตั้งโครงการจึงเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังความเป็นไปได้ของอาคาร (อาคารที่ตอนนี้ยังไม่มีแต่กำลังจะมี) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อในระดับอภิปรัชญา ในระดับที่เหนื่อขึ้นไปกว่าความหมายทั่วๆไป และแม้ว่าสถาปัตยกรรมจะผูกติดอยู่กับสถานที่ กับสถานการณ์ แต่สถาปัตยกรรมนั้นยังสามารถปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆได้อีกด้วย

"A site is a metaphysical link, a poetic link, to what a building can be."

คุณ Holl ยังบอกต่อไปอีกว่าสำหรับคุณ Holl แล้ว สถาปัตยกรรมยังเป็น "ความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นชีวิตเดียวกันของแนวความคิดและรูปทรง แนวความคิดผลักดันงานออกแบบ แต่ประสบการณ์อยู่ในปรากฏการณ์" 

"For me, architecture is an organic link between concept and form. The idea drives the design, but the experience is in the phenomenon."

คุณ Holl ได้พูดประโยคข้างบนหลายครั้งแต่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น "แนวความคิดผลักดันงานออกแบบ แต่การทดสอบสถาปัตยกรรมที่แท้จริงอยู่ที่ประสบการณ์" ซึ่งตรงนี้เราจะได้ยินคุณ Holl พูดถึง "ร่าง" (Body) อยู่หลายครั้ง เช่น "ร่างที่เคลื่อนผ่านพื้นที่ว่าง" (Body moving through space.)

คุณ Holl ยังพูดถึง คุณภาพของกลิ่น คุณภาพของเสียงอีกด้วย ตรงนี้เราจะเริ่มเห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่าคุณ Holl ไม่ได้เน้นไปที่การ "เห็น" เพียงอย่างเดียว

Note: เรื่องของ "ร่าง" ตรงนี้ผมแนะนำให้ลองอ่าน [หนังสือ] The Thinking Hand โดย Juhani Pallasmaa สักเล็กน้อย จะได้เข้าใจคำว่า "Body" หรือ "ร่าง" ที่คุณ Holl พูดถึงนะครับ

คุณ Holl ยังเน้นต่อไปอีกว่า "ร่างคือตัววัดสถาปัตยกรรม" ก็คือว่า สถาปัตยกรรมไม่ใช่อะไรที่วัดด้วยเพียงการดูรูป การได้ยินมา การดูวีดีโอมา หรืออะไรทั้งนั้น แต่สถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่ต้องเข้าไป "รู้สึก" เข้าไปสัมผัส เข้าไปรับรู้ด้วย ตา หู จมูก กาย ของเราเอง

"As you move through spaces with all your senses acute, you really are testing the architecture."

  • อะไรสมควรจะเป็นหน้าที่ของสถาปนิกในสังคมของเรา?

ถ้าฟังในคลิป ประมาณ นาทีที่ 3:35 แล้วละก็...หึหึหึ ผมฟังครั้งแรกที่ขนลุกเลย! ก่อนจะอธิบายว่าเพราะอะไรลองดูประโยคสองประโยคนี้กันดีกว่าครับ:

"I think that architecture has..has the potential to put essences back into existence." - Steven Holl

"Phenomenology is also a philosophy which puts essences back into existence."  Maurice Merleau-Ponty จากหนังสือ Phenomenology of Perception (1954)

คือต้องบอกก่อนนะครับว่าคุณ Steven Holl เคยให้สัมภาษณ์ที่อื่นว่าเค้าเคยเจอคุณ Maurice Merleau-Ponty แล้วได้คุยกัน แล้วชอบมากจนต้องหางานเขียนทุกงานของคุณ Merleau-Ponty มาอ่าน จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คุณ Holl จะตอบแบบนั้น ฉะนั้นผมคิดว่าการที่คุณ Holl ตอบว่า "สถาปัตยกรรมมีศักยภาพที่จะใส่แก่นแท้กลับสู่การมีอยู่" นั้นแสดงออกถึงการที่คุณ Holl มองว่าสถาปัตยกรรม และ ปรากฏการณ์วิทยา มันคือเนื้อเดียวกัน

ผมหมายความว่า สำหรับคุณ Holl แล้ว สถาปัตยกรรมก็มีความสามารถพอๆกับปรากฏการณ์วิทยา หรือสถาปัตยกรรมก็คือปรากฏการณ์วิทยา หรือปรากฏการณ์วิทยาก็คือสถาปัตยกรรม เพราะถ้าเราพูดถึงปรากฏการณ์ต่างๆ มันย่อมมีเรื่องของบริบท เรื่องของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างก็ต้องอิงอยู่กับสภาพแวดล้อม และสภาพแวดล้อมนั้นเองก็คือสถาปัตยกรรม

ฉะนั้นแล้วสถาปัตยกรรมกับเรื่องของปรากฏการณ์วิทยา ก็คือเรื่องคือๆกัน และมีความสามารถที่จะ "put essences back into existence" เหมือนกัน (สำหรับคุณ Holl)

ในจุดนี้คุณ Holl ตอบในเรื่องของหน้าที่ของสถาปนิกต่อสังคมประเด็นแรก ก็คือว่าสถาปนิกควรมีหน้าที่ที่จะทำให้แก่นแท้ หรือสาระปรากฏออกมานั่นเอง

หน้าที่ต่อไปที่คุณ Holl บอกก็คือการเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่ (rewrite the program) ก็คือว่า บางทีลูกค้าให้โปรแกรมของโปรเจคมาสถาปนิกควรที่จะมอง ศึกษาและแนะนำลูกค้ากลับไปด้วยไม่ใช่แค่รับมาอย่างเดียว

"Today, I think, more than ever, an architect has to really be writing the program as well as just receiving the brief."

หน้าที่ต่อไปก็คือการผลักดันเรื่องของ "ความเขียว" (Green) คุณ Holl เล่าเรื่องเล็กๆว่าที่จีนลูกค้าเรียกหาความเขียว แต่ที่อเมริกานี่แท้จะต้องบังคับกัน ต้องโน้มน้าวกันเพื่อที่จะทำเรื่องของ green คุณ Holl ยังบอกว่ามันเป็นความรับผิดชอบของสถาปนิกที่จะต้องทำให้อาคารที่เขียวที่สุดเท่าที่จะทำได้เกิดขึ้น

"I think, in very situation, an architect has a..sort of... let's say responsibility to bring the greenest possible building into existence."

Steven_Holl_สัมภาษณ์_โดย_ArchDaily_Nelson_Atkins_Museum_of_Art
  • ในงานของคุณ ผมเห็นงานวิจัยและการทำความเข้าใจใหม่อยู่เรื่อยๆ คุณรับมือกับเรื่องของโปรแกรมอยา่งไร?

คุณ Holl เล่าว่าวิธีการทำงานเมื่อได้รับโปรแกรมมาก็คือการศึกษาโปรแกรม ศึกษาสถานที่ตั้ง แต่ก็จะต้องวางเรื่องพวกนี้เอาไว้ และลองนึกถึงสิ่งที่นอกเหนือไปจากโปรแกรมที่ได้รับมา เช่นว่ามันควรจะเพิ่มอะไร มันควรจะเป็นยังไง เราควรจะทำอะไรให้มันดีกว่านี้ เป็นต้น

คุณ Holl ยกตัวอย่างงาน Nelson-Atkins Museum of Art เป็นงานประกวดที่คุณ Holl ชนะมา คุณ Holl เล่าว่าหลังจากได้ทำการศึกษาโครงการแล้วคุณ Holl ก็เปลี่ยนสถานที่ตั้งของโครงการ เพราะสถานที่ตั้งที่ให้มานั้นไม่สมควรที่จะเข้าไปยุ่ง ไม่ควรเข้าไปแตะต้องเลย คุณ Holl ทำผิดกฎของการประกวดแบบทุกกฎ ซึ่งก็ได้กล่าวขอโทษตั้งแต่ก่อนเริ่มอธิบายแบบให้กรรมการฟังว่า:

"You know, I got the courage to break all your rules. Because in the stone façade it said 'The soul has greater need for the ideal than for the real'."

"คุณรู้ไหม ผมกล้าที่จะแหกทุกกฎของคุณ เพราะในผนังหิน มันบอกว่า 'จิตวิญญาณต้องการสิ่งที่เป็นอุดมคติมากกว่าสิ่งที่เป็นจริง' "

คุณ Holl ยังแนะนำว่าสถาปนิกควรที่จะรู้จักตั้งคำถาม มองออกนอกกรอบ เพื่อไปสู่จุดสูงสุดของงานสถาปัตยกรรม

  • อะไรคือนวัตกรรมที่สำคัญในสำนักงานของคุณ?

คุณ Holl บอกว่ามันสำคัญมากที่งานสถาปัตยกรรมจะต้องมีการทดลองใหม่ๆอยู่เสมอๆ ไม่ใช่ว่าจะไปยึดหรือพึ่งพาอยู่กับแต่สิ่งที่มีมาอยู่แล้วอย่างเดียว

  • การเชื่อมโยงในวงกว้างสำคัญอย่างไรในสำนักงานของคุณ?

คุณ Holl เล่าถึงการทำงานร่วมกันกับหลายๆทีม จากหลายๆอาชีพ รวมไปถึงการ pin-up ในสำนักงานของเขาที่บางทีก็ให้นักวิจารณ์ ให้ศิลปิน เข้ามาพูดคุยกัน

คุณ Holl ยังบอกถึงการใช้ Facebook และ Website เพื่อบอกถึงข่าวต่างๆของสำนักงานของคุณ Holl

คุณ Holl ยังเล่าถึงการที่ให้พนักงานทำงานโปรเจค 24 ชั่วโมงโดยการทำที่ New York 12 ชั่วโมง แล้วส่งไฟล์ไปยังสำนักงานที่ปักกิ่งต่ออีกที 

  • อะไรที่คุณจะแนะนำคนที่อยากเรียนสถาปัตยกรรม?

ในจุดนี้คุณ Holl มีความเห็นในทางเดียวกันกับคุณ Tadao Ando และสถาปนิกอีกหลายๆคนอย่างชัดเจน ก็คือการเดินทาง การออกไปสัมผัสกับสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง โดยเฉพาะทุกวันนี้ที่เราถูกกระหน่ำด้วยรูปถ่ายมากมาย ซึ่งบางรูปก็ไม่เป็นความจริงของสถาปัตยกรรม เป็นรูปถ่ายที่เป็นรูปถ่าย ไม่ใช่สถาปัตยกรรม ฉะนั้นการออกไปรับรู้ ไปเสพ สถาปัตยกรรมด้วยตัวเองจึงสำคัญมาก

คุณ Holl แนะนำว่าเวลาไปสถาปัตยกรรม ควรจดบันทึก สเก็ต และจดด้วยว่ารู้สึกอย่างไร ผมคิดว่าตัวอย่างที่ดีของการจดความรู้สึกตรงนี้ควรดูที่คุณ Peter Zumthor เล่าถึงการจดบันทึกของเขาในหนังสือ Atmospheres นะครับ คือจดทุกอย่างเช่น เห็นอะไร ยังไง ได้กลิ่นอะไร ยังไง ได้ยินอะไร ยังไง สัมผัสอะไร ยังไง เป็นต้น

Note: หนังสือ Thinking Architecture กับ Atmospheres ของคุณ Peter Zumthor ก็เป็นหนังสือเรียนในระดับปริญญาตรีของคณะสถาปัตย์หลายๆแห่งทั่วโลกด้วยนะครับ

คุณ Holl ยังบอกว่างานสถาปัตยกรรมดีๆไม่สามารถถูกถ่ายรูปได้ คือไม่ใช่ว่ามันห้ามถ่ายรูปนะครับ (555) แต่เค้าหมายความว่า สถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง ด้วยร่างกาย ด้วยตา หู จมูก กาย ลิ้น(?) ฉะนั้นสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่อะไรที่จะถ่ายรูปออกมาได้ คุณ Holl ยังบอกต่อไปอีกในเรื่องของเวลา (time) ว่าการรับรู้สถาปัตยกรรมมันต้องมีการเคลื่อนผ่าน มีขั้นตอน ไม่ได้มาเป็นภายนิ่งเดี่ยวๆ

  • จากประสบการณ์ของคุณ อะไรที่คุณสามารถบอกเราได้เกี่ยวกับการบริหารสำนักงานสถาปัตยกรรม?

"I would say 'Remain idealistic'. "

คุณ Holl พยายามบอกว่าเราควรรักษาอุดมการณ์ไว้เสมอๆ ควรตั้งใจทำทุกงานให้เป็นสถาปัตยกรรม ไม่ใช่ว่ามีสองมาตรฐาน ไม่ใช่ว่าปิดตาข้างนึงบางงาน ทำเพื่อเงินบ้าง แล้วค่อยทำเพื่อสถาปัตยกรรมในงานอื่นๆ

"Not to work on a double standard. Not to work with some projects bringing in money and other projects, you say, are going to be architecture. I think be idealistic was a key to the success of our office."

คุณ Holl ยังพูดชัดเจนว่าการมีอุดมการณ์คือกุญแจสำคัญในความสำเร็จของสำนักงานคุณ Holl และการมีเพื่อนร่วมงาน มีทีมงานที่เราสามารถเชื่อใจได้ หรือมีอุดมการณ์ร่วมกับเราก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆเช่นกัน


จบละครับ

เป็นยังไงบ้างครับ เป็นบทสัมภาษณ์สั้นๆ แต่ผมคิดว่าก็คงจะได้แง่มุมอะไรกันไปบ้างไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว จริงๆเรื่องของแก่นแท้ (essence) ที่คุณ Steven Holl พูดถึงนั้น ผมยังไม่เคยอธิบายจริงๆจังๆเลย ส่วนหนึ่งคือผมคิดว่าควรจะระวังเป็นอย่างมากในการอธิบายเรื่องนี้ เพราะผมคิดว่ามันควรถูกอธิบายอย่างระมัดระวัง แต่ถ้าหากสนใจเรื่องนี้ ผมแนะนำว่าควรศึกษางานแถวๆ Christian Norberg-Schulz, Martin Heidegger, Maurice Merleau-Ponty, Juhani Pallassmaa, Peter Zumthor, Tadao Ando ประมาณนี้เพิ่มเติมนะครับ

วันนี้เอาแค่นี้ก่อน สวัสดีครับ