maipatana.me

Space กับ Place ความต่าง

placespaceปรากฏการณ์วิทยาสถาปัตยกรรม

ผมทราบมาว่าหนังสือ The Image of the City ของคุณ Kevin Lynch กำลังจะถูกแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งผมก็ดีใจมาก และนึกได้ว่าในบทที่ 3 ที่ชื่อว่า The City Image and Its Elements ซึ่งเป็นบทที่นักศึกษาสถาปัตย์ไม่ปี 1 ก็ปี 2 จะต้องอ่าน เนื้อหาในบทนี้ Christian Norberg-Schulz นำมาปรับใช้ต่อในงานเขียนของเขา ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วก็เป็นเรื่องของ Place เรื่องของ Identity

ผมคิดว่าก่อนที่จะเข้าไปเรื่องของ Identity หรือ Phenomenology นั้น Space และ Place ควรถูกทำความเข้าใจอย่างคร่าวๆเสียก่อน แน่นอนว่าเรื่องของ Space และ Place มันย่อมลึกซึ้งกว่าที่ผมพิมพ์ในนี้แน่นอน แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการมองเห็นความแตกต่างตรงนี้นะครับ


Space กับ Place ต่างกันอย่างไร?

Space กับ Place ความต่าง

Space เป็นคำที่สถาปนิกนักออกแบบมักพูดถึงกันบ่อยๆเสมอ “สเปส” หรือพื้นที่ว่าง… ก็คือพื้นที่ว่าง ที่มันว่างอยู่ และเนื่องด้วยความที่มันว่าง สิ่งต่างๆจึงสามารถเข้าไปถือครองหรือแต่งเติม (occupy) ได้

“หยุดตรงนี้ที่เธอ ไม่ไปไกลแล้วใจ จะหยุดทั้งใจไว้ที่เธอ” - ฟอร์ด สบชัย ไกรยูรเสน

ส่วน Place แปลว่าสถานที่ เวลาเราถามว่า “ที่นี่ที่ไหน?” (Where is this place?) ก็คือการถามถึงสถานที่ แต่คำว่า “ที่” (Place) ยังถูกใช้ในบริบทอื่นได้ เช่นเนื้อเพลงข้างบนที่พี่ฟอร์ดร้อง “หยุดตรงนี้ที่เธอ” คำว่า “ที่เธอ” นี่มันมีคำว่า “ที่” อยู่ด้วย ทำไมไม่ใช่ “หยุดตรงนี้เธอ” ละ? และการบอกว่า “หยุดตรงนี้ที่เธอ” ก็ไม่ได้หมายถึงด้านกายภาพเพียงอย่างเดียวด้วย ไม่ใช่ว่าเดินไปแล้วหยุดตรงนั้น แต่มันมีความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น ความหมายในเชิงความรู้สึก

ในความหมายที่แท้จริงของคำพูดนี้มันแสดงความเป็น “ที่” เป็น Place ในแบบไหนกัน? ภายใต้สเปสเดียวกัน แต่ละคนอาจจะไม่เจอ “ที่”ของตัวเองเหมือนๆกันก็ได้…

เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น ผมคิดว่าเราควรย้อนกลับไปสักนิดนึงถึงการอธิบาย Space และ Place ในสมัยก่อน

Space และ Place ในยุคก่อนโบราณ

การพยายามอธิบายความแตกต่างระหว่าง Space และ Place มีมานานตั้งแต่ยุคก่อนโสกราตีส (presocrates) หรือราวๆ 2,500 ปีก่อน นักปรัชญาในสมัยนั้นเช่น Anaximander, Anaxagoras และ Anaximenes ก็ผลิตคำอธิบาย ผลิตความรู้ตรงนี้ออกมากันอย่างมากมาย โดยคำที่หมายถึง Place ที่สมัยนั้นเค้าใช้กันคือคำว่า peras ที่แปลว่า boundary หรือเขตแดน เส้นขอบ กรอบ นั่นเอง

ผมว่าตรงนี้มันก็เข้าใจได้อยู่นะ เพราะเวลาเราพูดถึงสถานที่ใดๆ มันก็ต้องมีขอบเขต มีเขตแดนของมันใช่ไหมครับ

ในช่วงเวลาต่อมา อริสโตเติล (Aristotle) มักใช้คำว่า peras สำหรับ Place ส่วนคำว่า Space ใช้คำว่า khôra ซึ่งคำว่า khôra นี้มักแปลว่า “the receptacle” หรือที่รองรับ ที่ใส่ ที่รับ เพราะว่า Space ในความคิดสมัยนั้นมันเหมือนสูญญากาศ ที่ว่างที่เป็นที่รับสิ่งอื่นๆ

ส่วนคำว่า Place หรือ peras นั้นเป็นอะไรที่มีความหมายในเชิงส่วนตัว (subjective) หมายความว่า Place มันเป็นอะไรที่อยู่ในใจของแต่ละคน เป็นส่วนตัวแต่ละคน หรือเรียกง่ายๆว่าเป็น Relative Truth หรือความจริงเฉพาะคนเท่านั้น และเมื่อเป็น Relative ก็จำเป็นจะต้องมีการอ้างอิง (เหมือนทฤษฎีสัมพัทธภาพหรือ general relativity ของไอน์สไตน์) และ Place ของสิ่งที่อ้างอิงนั้น ก็คือเขตแดน หรือ boundary ของสิ่งนั้นๆ

แต่คำว่าขอบเขตในที่นี้ไม่ได้อธิบายแบบโล่งๆเหมือน Space แล้วพูดถึงผนัง พื้น หลังคา ที่เป็นขอบเขต แต่คำว่า Place มีลักษณะที่ “เต็ม” หรือ filled ไม่ได้โล่งๆแบบ Space ฉะนั้นความหมายของขอบแขตที่แท้จริงเป็นไปในเชิงของการ “จำกัด”

ถ้าใครเคยอ่าน The Poetics of Space โดย Gaston Bachelard ในบทที่ 6 ชื่อ Corners แล้วเจอประโยคที่บอกว่า “I am the space where I am.” (Je suis l’espace où je suis) จะทราบว่าในความหมายนี้ สถานะของ Space ได้กลายเป็น Place ไปเรียบร้อยแล้ว เหมือนกับประโยคที่ว่า “I am what is around me.” ของ Wallace Stevens ก็คือเป็นการอธิบายสถานะของ Place นั่นเอง

ผมขอย้ำอีกทีว่า Place นั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆด้วยตัวเองได้ แต่มันเป็น Relative (สัมพันธ์อ้างอิง) กับบางอย่าง เช่นคน ฉะนั้น Place ของคน เกิดขึ้นกับคนคนนั้นเท่านั้น และความเป็น Place ไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดดๆ และไม่ได้หมายถึงวัตถุ สิ่งของใดๆ แต่คือสิ่งที่เติมเต็มช่องว่า (Space) นั้นๆ โดยคนนั้นๆเอง

Note: คำว่า khôra และ peras นั้นปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันอยู่ ฉะนั้นความหมายที่ผมบอกไปอาจจะมีคนแย้งได้ แต่ขอให้รู้ไว้ว่ามันไม่ไกลไปจากนี้มากหรอกครับ

Space และ Place ในปัจจุบัน

ความหมายของคำว่า Space กับ Place ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก แต่ความลึกซึ้งเมื่อนำไปปรับใช้นั้นได้พัฒนามาอย่างมากในช่วง 100 ปีมานี้ โดยเฉพาะจากแนวคิดของ Martin Heidegger ใน Building Dwelling Thinking ที่อธิบายเรื่องของ Space กับ Place เอาไว้เช่นกัน โดย Heidegger อธิบายการเกิด Place ว่าเกิดขึ้นภายใน Space และเกิดขึ้นจากสำนึกของความเป็นสถานที่โดยเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ตรงนั้น ซึ่งใน Building Dwelling Think ก็คือสะพานนั่นเอง

โดยเมื่อย้อนกลับมาแล้ว Heidegger บอกว่าเมื่อเกิดสถานที่ (เค้าใช้คำว่า location) แล้วนั้น Space จะเกิดการมี (being) อยู่ จากสถานที่ ไม่ใช่จากความว่าง (space)

ตรงนี้ต้องระวังดีๆนะครับ เพราะจริงๆแล้วคำว่า Space ที่ Heidegger ใช้นั้นมันก็คือ Place ในความหมายที่อธิบายมาก่อนหน้านี้นั่นแหละครับ บางทีเราอย่าดูที่ตัวคำอย่างเดียว ต้องดูไปที่ความหมายที่เค้าจะสื่อด้วย โดยคำว่า Space ของ Heidegger นี้ภายหลัง Christian Norberg-Schulz ได้พัฒนาไปเป็น Existential Space ครับ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ไม่ใช้คำซ้ำๆกัน

Place และ I (ฉัน) dentity

จากที่ผมอธิบายไปข้างบน น่าจะสรุปคร่าวๆได้ว่า Space ก็คือพื้นที่ว่าง เป็นความจริงแบบ Objective เป็นความจริงแบบจริงๆ จริงเชิงกายภาพ ส่วน Place เป็นความจริงแบบ Subjective เป็นแบบเฉพาะคน ภาษาพุทธเรียกว่า “ปัจจัตตัง” เป็นสิ่งที่รู้ได้เฉพาะตน ขึ้นอยู่กับคนคนนั้น

แต่เราจะเห็นว่าเมื่อ Place มีความสัมพันธ์กับ I หรือ ฉัน ในแบบที่ฉันเติม “เต็ม” พื้นที่ว่างนั้นๆ (คำว่า “เต็ม” นี้มีความหมายเหมือนที่ Christian Norberg-Schulz เขียนเอาไว้ใน Genius Loci ว่า ‘A place is therefore a qualitative, “total” phenomenon.’) หมายความว่าความเป็นฉัน หรือตัวตน อัตลักษณ์ (Identity) เกิดขึ้นภายใน Place เพราะว่าความเป็นฉัน เป็นตัวตนเกิดขึ้นได้จากความสันพันธ์ของฉันกับ Space นั้น โดยเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเกิด Place และเมื่อเกิด Place ความเป็นฉัน เป็นตัวตนจึงเกิดขึ้นมาพร้อมๆกัน

ลองนึกง่ายๆ คนคนหนึ่งอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบหนึ่งก็เป็นแบบหนึ่ง ภายใต้สภาพแวดล้อมอีกแบบก็เป็นแบบหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่เรารับรู้เมื่อมองจากข้างนอกเข้าไป แต่ถ้ามองจากข้างในออกมาข้างนอกละ? เมื่อใดที่คนคนหนึ่งเกิดการรับรู้สภาพแวดล้อมรอบๆตัว รับรู้ Space และเติมเต็มตัวเองลงไป คนคนนั้นก็จะบังเกิดความเป็นตัวต้นภายใต้โครงสร้าง (Architecture) ทั้งหมดนั้น เท่าที่โครงสร้างนั้นจะเอื้อ หรืออนุญาตให้เกิดตัวตนใดๆขึ้นได้

ปรากฎการณ์วิทยาในเชิงสถาปัตยกรรมและความเป็นที่

ปรากฎการณ์วิทยาเชิงสถาปัตยกรรม (Phenomenological Architecture) เป็นศาสตร์ที่มุ่งเน้นในเรื่องของ Place ของการเกิดความเป็นที่ ของคน หรือบางคนอาจจะบอกว่าจุดมุ่งหมายคือให้คนเกิดการตระหนักรู้ความมีอยู่ของตัวเอง (Being) ของคน การทำให้คนตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ในโลก (being-in-the-world) หรืออะไรก็ตาม

แต่ประเด็นหลักๆคือการทำให้คนอยู่ในสถานที่ตรงนั้นเกิดการรับรู้ในเชิงกายภาพ เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็น Place ภายในตัวเอง โดยสถาปนิกที่มุ่งเน้นด้านนี้อย่างชัดเจนในปัจจุบันคือ Tadao Ando, Steven Holl, Juhani Pallasmaa และ Peter Zumthor (และคงมีอีกที่ผมไม่ทราบ)

สถาปนิกเหล่านี้มีควาเชื่อว่าสถาปัตยกรรมมีความสามารถที่เผยแก่นแท้ (essence) ของตัวมันเองได้ แต่แก่นแท้นั้นจะปรากฎต่อคนก็ต่อเมื่อคนรับรู้สถาปัตยกรรม และการรับรู้นี้ก็ไม่ใช่การรับรู้แบบอื่นๆ เช่นจากรูปภาพ จากวีดีโอ แต่จากสถาปัตยกรรมโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่รับรู้ได้ในโลก ในแบบ 3 มิติ ทั้งจากทางตา หู จมูก กาย ลิ้น ทั้งหมด

สรุป

สรุปแล้ว Space กับ Place ต่างกัน และผมคิดว่า Place เป็นสิ่งที่สถาปนิกควรสนใจ ไม่ใช่สนแต่ Space ที่ไร้จิตวิญญาณแบบที่สถาปนิกยุคโมเดิร์น (modern) ชอบทำกัน และปรากฎการณ์วิทยาในเชิงสถาปัตยกรรมก็เป็นศาสตร์ที่สามารถช่วยเหลือให้คน มนุษย์ เกิดความเป็นที่ เป็น Place ในโลกได้


ช่วงหลังๆที่อธิบายปรากฏการณ์วิทยาอาจจะดูสั้นไปหน่อย แต่ก็เพราะผมคิดว่าวันนี้เน้นเรื่อง Space กับ Place มากกว่า ฉะนั้นเรื่องปรากฏการณ์วิทยาเป็นเรื่องเสริมให้เห็นภาพเฉยๆ จึงสั้นๆหน่อยนะครับ