maipatana.me

Representation และ Simulation ในสถาปัตยกรรม

simulationสถาปัตยกรรมสังคม

ในงานด้านสถาปัตยกรรม การสร้าง Representation และ Simulation เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ และเกิดขึ้นเกือบจะทุกๆขั้นตอนการออกแบบ ซึ่งแม้เราจะไม่รู้ถึงความแตกต่าง เราก็ทำมันอยู่เสมอๆได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร แต่วันนี้ผมอยากลองชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกันของสองอย่างนี้สักเล็กน้อย เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ

Representation และ Simulation แสดงถึงการที่นักศึกษาส่งงานเป็น Representation ของงานสถาปัตยกรรม

ภาพงานนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมที่ Cardiff University ที่แสดงถึงการสร้างตัวแทนของงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้น

Representation และ Simulation

อะไรคือตัวแทน? What is representation?
ก่อนจะรู้ว่าอะไรคือตัวแทน เราต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือตัวจริง_ (reality) ตรงนี้ต้องขอทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่าเรากำลังพูดถึงงานสถาปัตยกรรมในรูปแบบของอาคาร (building)_ จากพื้นฐานของสถาปัตยกรรมศาสตร์ ฉะนั้น ตัวจริงที่เรากำลังพูดถึงนี้ ก็คืออาคาร หรือสภาพแวดล้อม หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆในโลกจริงๆ นั่นแหละคือตัวจริง

ส่วนตัวแทน ก็คือสิ่งแทนที่มีคุณลักษณะ หรือคุณค่า (quality) บางอย่างที่สื่อถึงตัวจริงได้ เช่น ในละครบางเรื่องพระเอกให้ของนางเอกไว้เพื่อเป็นสิ่งแทนใจ ก็คือว่า ของชิ้นนั้นเป็นตัวแทนของความรักที่พระเอกมีนั่นเอง

และแน่นอนว่าสถาปัตยกรรมมีตัวตนอยู่ในโลกกายภาพ โลกที่เราจับต้อง มองเห็น สัมผัส รับรู้ได้ตรงหน้า แต่มักถูกอธิบายผ่านตัวแทนแทบทั้งสิ้น อย่างที่ Kester Rattenbury เขียนไว้ส่วนหนึ่งในบทนำของหนังสือ this is not architecture (2002) ว่า

“Architecture is driven by belief in the nature of the real and the physical: the specific qualities of one thing – its material, form, arrangement, substance, detail – over another. It is absolutely rooted in the idea of ‘the thing itself’. Yet it is discussed, illustrated, explained – even defined – almost entirely through its representation.”

“งานสถาปัตยกรรมถูกขับเคลื่อนด้วยความเชื่อในเรื่องของความเป็นจริงและความเป็นกายภาพ งานสถาปัตยกรรมมักถูกผลักดันด้วยเรื่องของ วัสดุ รูปทรง การจัดวาง สาระ รายละเอียด แม้ว่าสถาปัตยกรรมถูกผูกติดอยู่กับแนวคิดของ ‘แก่นแท้ของตัวมันเอง’ แต่ก็ถูกถกเถียง แสดงตัวอย่าง อธิบาย แม้แต่นิยาม ผ่านตัวแทนเกือบแทบทั้งหมด”

จะเห็นได้ว่าสถาปนิกคุ้นเคยกับตัวแทนของสถาปัตยกรรมกันเป็นอย่างดี แต่ปัญหาตรงนี้ก็คือความสับสนระว่างตัวแทน กับตัวมันเอง เช่น ความสับสนระหว่างภาพที่ render ออกมาอย่างสวยงาม กับสถาปัตยกรรมจริงๆ หรือ สับสนระหว่างผลการคำนวณพลังงานในอาคารที่ต่ำจนน่าชื่นชมกับการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นจริง เป็นต้น

ความสับสนตรงนี้มักเกิดขึ้นต่อเมื่อสถาปนิกไม่อาจะแยกแยะระหว่างสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจริงบนโลกและตัวแทนของสถาปัตยกรรมออกจากกันได้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือการหลุดออกจากความสนใจในตัวสถาปัตยกรรม และไปให้ความสำคัญกับตัวแทนของสถาปัตยกรรมแทน ยกตัวอย่างเช่นปัญหาที่ถูกชี้ให้เห็นไว้ใน [หนังสือ] The Language of Space โดย Bryan Lawson ว่าภาพถ่ายสถาปัตยกรรม มักถ่ายช่วงเช้าที่ไม่มีคน หรือพยายามลบคนออกจากภาพ นี่แสดงให้เห็นถึงการพยายามสร้างภาพตัวแทน ที่ปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ปฏิเสธการมีคนใช้งานจริงในพื้นที่นั่นๆ

ทุกๆขั้นตอนของการออกแบบ เราทำงานกับตัวแทนอยู่ตลอด สถาปัตยกรรมที่เป็นตัวจริงยังไม่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้เลย แต่เราก็ต้องออกแบบ เพื่อคาดหวังว่าความเป็นจริงจะออกมาอย่างที่คิด ที่ออกแบบ ที่วางแผนกันไว้ โดยในความเป็นจริง มันมีตัวแปร มีผลกระทบมากมาย ที่เรายังไม่อาจรู้ได้ หรือคาดไม่ถึง และไม่รู้จริงๆจนกระทั่งอาคารถูกสร้างจริงๆ หรือสำหรับการคำนวณพลังงาน ก็คือไม่รู้จนกว่าจะเกิดการใช้พลังงานจริงๆนั่นเอง

จะเห็นว่าตัวแทนก็เปรียบเสมือนการ “ตัด” หรือ “คัด” เอาบางส่วนของความจริงออกมา ไม่ว่าจะเพื่อการวิเคราะห์ หรือทำอธิบาย เช่นการตัดโมเดล การเขียนแบบ การทำภาพ 3 มิติ การทำ mock-up หรือการคำนวณพลังงาน ต่างล้วนเป็นการ “ผลิต” ตัวแทนของสถาปัตยกรรม เพื่้อนำมาใช้งานตามที่ต้องการ

จริงๆแล้วเรื่องของตัวแทนในสถาปัตยกรรม ยังมีอีกมาก แต่ผมขอละไว้ตรงนี้ เพราะคิดว่า มาถึงจุดนี้ ผู้อ่านน่าจะเข้าใจแล้วว่า ตัวแทนคืออะไร และต่อไปผมจะอธิบายว่าต่างกับการจำลอง (simulation) ยังไง

Representation และ Simulation แสดงถึงการทำ Simulation เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน

ภาพนี้แสดงถึงการใช้ Mathematical Simulation เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะเกิดการใช้พลังงานอย่างไรเมื่อใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน จำลองสถานการณ์ที่สามารถจะเป็นได้ภายใต้ลักษณะบางอย่าง

การจำลองคืออะไร? What is simulation?

ก่อนหน้านี้เราเห็นเส้นแบ่งระหว่างตัวจริง กับตัวแทนไปแล้ว แต่เส้นกั้นระหว่างตัวแทน กับการจำลอง มีเส้นแบ่งที่ค่อนข้างบางกว่า แต่ก็ชัดเจนมากพอที่จะไม่ทำให้สับสนได้อยู่

การทำ simulation ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้คอมพิวเตอร์มาคำนวณเท่านั้น แต่การทำ simulation มีความหมายครอบคลุมไปถึงการจำลองสถานการณ์ต่างๆทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ หรือเป็นการคำนวณเป็นตัวเลข ก็ตาม

สรุปว่า โดยพื้นฐานแล้ว Simulation คือการ ผลิตซ้ำ (replication) ความจริง หรือตามที่อริสโตเติ้ล (Aristotle) ว่าเอาไว้ก็คือการแสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นๆสามารถเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่นการจำลองว่า ถ้าตึกถล่มจะเป็นอย่างไร ถ้าไฟไหม้จะเป็นอย่างไร ถ้าเปลี่ยนกระจกจะเป็นอย่างไร และอื่นๆอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างลักษณะ (setting) จำลองบางอย่างขึ้นมา และปรับเปลี่ยนลักษณะนั้นๆเพื่อให้เห็นว่าผลจะเป็นอย่างไร

ตรงนี้จะเห็นชัดๆเลยว่าตัวแทน (representation) คือสิ่งแทนตัวจริง หรือสิ่งที่สื่อถึงตัวจริง แต่การจำลอง (simulation) คือการสร้างสถานการณ์ที่จำลองความจริงในลักษณะอื่นๆ หรือในความเป็นไปได้อื่นๆ

ผมขอขยายความในเรื่องของการปรับเปลี่ยนลักษณะ หรือ เปลี่ยน setting สักเล็กน้อย คุณผู้อ่านลองนึกถึงบู้ทขายห้องในคอนโดฯที่ฝ่ายขายจะทำห้องตัวอย่างเอาไว้ด้วย หรือลองนึกถึงโครงการบ้านจัดสรรที่มีบ้านตัวอย่างอยู่แถวๆสำนักงานขาย

คุณผู้อ่านคิดว่าบ้านตัวอย่าง ห้องตัวอย่างพวกนี้เป็น representation หรือ simulation ครับ?

แน่นอนครับ มันคือ representation มันคือตัวแทนของห้องที่กำลังจะสร้างขึ้น ตัวแทนของบ้านที่กำลังจะสร้างขึ้น

แต่ แต่ แต่ แต่ แต่ แต่เมื่อไหร่ที่คุณลูกค้าได้เคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ว่างภายในห้อง ในบ้านนั้นๆ คุณลูกค้าลองไปนั่งบนเก้าอี้ ลองนอนบนเตียง พยายามนึกคิดว่าจะจัดเฟอร์นิเจอร์อย่างไร simulation ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่้อเกิดการจำลองสถานการณ์ว่า “ถ้าเราอยู่ห้องแบบนี้ มันจะเป็นอย่างไรกันนะ?” นี่ก็คือกระบวนการจำลอง เป็น simulation ตรงนี้ผมเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าการ simulation นั้น จะต้องสร้างลักษณะ (setting) บางอย่างขึ้นมา และเกิดการปรับเปลี่ยน เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับลักษณะเหล่านั้น เช่นการที่คนมีปฏิสัมพันธ์กับห้องตัวอย่างนั่้นเอง

ในงานวิจัยชื่อ Simulation for Planning and Design ของ Colin Clipson ในปี 1993 นั้น ได้แยกประเภทของ Simulation ไว้ 4 ประเภท ซึ่งก็คือ

     1. Iconic – เป็นการนำชิ้นส่วน หรือวัตถุของจริงทางกายภาพ นำไปจำลองสถานการณ์ในสภาพแวดล้อมจำลอง

     2. Analog – คือการที่คนมีมีปฏิสัมพันธ์กับระบบจำลอง เช่นการจำลองการขับเครื่องบิน

     3. Operational – คล้ายๆกับ Analog แต่ต่างกันตรงที่แทนที่จะให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับระบบจำลอง Operational คือการให้คนมีปฏิสันพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เป็น กายภาพ เช่นการเข้าชมบ้านตัวอย่าง

     4. Mathematical – เป็นการใช้ตัวเลขมาทดแทนลักษณะต่างๆ และใช้การคำนวณเพื่อจำลองสถานการณ์

ซึ่งผมจะไม่ขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ที่กล่าวไว้เผื่อว่าผู้สนใจจะไปศึกษาต่อ

สรุป
เป็นอย่างไรบ้างครับ ได้เห็นความแตกต่างระหว่าง representation กับ Simulation ชัดขึ้นบ้างไหมครับ อย่างที่บอกเอาไว้ว่าจริงๆเรื่องพวกนี้มีรายละเอียดมากกว่านี้ แต่เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการทำความเข้าใจพื้นฐานแล้วนะครับ 🙂