maipatana.me

Ken Yeang ทฤษฎีเบื้องต้น

energyKen YeangสถาปัตยกรรมGreen Architecture

สมัยผมเรียนปริญญาตรี น่าจะสักประมาณปี 3 เคยมีโปรเจคออกแบบอาคารสูงประเภทสำนักงาน ก็เคยเห็นงานของคุณ Ken Yeang มาบ้าง เปิดดูรูปงานของคุณ Yeang ในอินเตอร์เน็ตก็พอเข้าใจว่าเป็นแบบ ต้นไม้เยอะๆ แบบว่า ตรงไหนใส่ต้นไม้ได้ก็ใส่ต้นใม้ไปเยอะๆ เลื้อยๆขึ้นไปหลายๆชั้น แล้วก็เข้าใจว่านี่คือสิ่งที่เค้าเรียกว่า "การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม" (Environmental Design) หรือ "สถาปัตยกรรมสีเขียว" (Green Architecture) รวมไปถึงคำอื่นๆที่เป็น "คำเท่ๆ" อย่างคำว่า ยั่งยืน (Sustainable), เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly), ประหยัดพลังงาน (Energy Saving), การออกแบบเพื่อความเป็นนิเวศ (Eco-Design) และอีกหลายๆคำที่อยู่ในหมวดของการออกแบบ + สิ่งแวดล้อม / สีเขียว จำได้ลางๆ (ไม่รู้ฝันหรือว่าจริงเพราะอาจจะหลับอยู่) ว่าสมัยเรียนอาจารย์เคยสอนว่าอาคารที่คุณ Yeang ออกแบบนี่เวลามดเดินผ่านมดไม่จำเป็นต้องหลบเลย คือเดินขึ้นตึกแล้วลงไปอีกด้านได้เลย ผมว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งดีนะ แต่ก็ไม่ได้รู้อะไรมากมายนอกเหนือจากนั้น จนกระทั่งปีที่แล้วคุณ Yeang ได้มาบรรยายที่คณะผม จริงๆเค้ามาพูดให้พวกป.ตรี + โทฟังเป็นหลัก ผมก็เข้าไปฟังด้วย เป็นการบรรยายประมาณชั่วโมงครึ่งเท่านั้นเอง แต่ก็ได้อะไรเยอะดี ผมจึงคิดว่ามันน่าสนใจที่ผมจะมาเล่าให้คนอื่นฟังต่ออีกทีหนึ่ง โดยเนื้อหานั้นผมได้เอามาจากหนังสืออีกหลายๆเล่มด้วย ไม่ได้เอามาแค่ที่เค้าบรรยายอย่างเดียว เพราะผมจดมาไม่หมด (555) และก็เพื่อให้เห็นภาพกว้างมากขึ้นด้วย หวังว่าจะให้สามารถทำความเข้าใจบริบทและที่มาของแนวคิดของคุณ Ken Yeang ได้ดีขึ้น โดยจะเล่าจาก ช่วงพัฒนาแนวคิด และตัวทฤษฎี แต่จะไม่ได้เล่าเข้าไปถึงตัวงานนะครับ

คำเตือน: ต้องขอบอกไว้ก่อนว่าที่ผมกำลังจะอธิบายมันเป็นภาพใหญ่ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะเจาะลึกลงไปในทุกรายละเอียด และรายละเอียดจริงๆมีมากกว่านี้มากนัก แต่หวังว่าจะพอทำให้เป็นภาพได้ว่าแนวคิดของคุณ Ken Yeang ยืนอยู่บนพื้นฐานของอะไร

Ken Yeang: ทฤษฎีเบื้องต้น

ช่วงพัฒนาทฤษฎี

คุณ John Frazer ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (Supervisor) ปริญญาเอกของคุณ Ken Yeang ได้เล่าว่าคุณ Ken Yeang เริ่มสนใจปัญหาเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม พลังงาน และความยั่งยืนตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ Architectural Association (AA) ที่ London โดยคำถามของคุณ Yeang ในตอนนั้นก็คือ "อะไรที่จะเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ?" โดยการเรียนที่ AA ในสมัยนั้นเป็นอะไรที่เปิดกว้างอย่างมากต่อการตั้งคำถาม และคำถามนี้ถึงแม้จะดูธรรมดาในสมัยนี้ แต่เมื่อประมาณปี 1970 แล้วนั้นมันยังเป็นอะไรที่ใหม่มากทีเดียวแม้แต่กับ AA คุณ Yeang รู้ว่าการที่จะได้มาซึ่งคำตอบนั้นต้องไม่ใช่อะไรที่เป็นเพียงปรัชญาลอยๆ แต่ต้องสร้าง "กระบวนการออกแบบ" (Design Methdology) ขึ้นมาใหม่เลย และด้วยความคิดนั้น ก็ทำให้คุณ Yeang ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี (Post Granduate) ที่ Cambridge University ตอนเข้าไปอยู่ที่ Cambridge ใหม่ๆ คุณ Yeang ทำโปรเจควิจัยหัวข้อ "Autonomous House" ซึ่งเป็นงานที่ศึกษาต่อยอดจากแนวคิดของคุณ Richard Buckminster Fuller ภายใต้การนำของคุณ Alexander Pike โดยที่คุณ Yeang พบว่าการพัฒนาสถาปัตยกรรมแบบนี้มันขาดทฤษฎีพื้นฐานที่แข็งแรงและแน่นพอ หมายความว่า คุณ Yeang คิดว่าสิ่งที่ "Autonomous House" กำลังทำอยู่นั้นคือพยายามออกแบบให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ แต่เรายังขาดทฤษฎีการออกแบบอยู่ ฉะนั้นคุณ Yeang จึงออกจากโปรเจคไปทำงานวิจัยของตัวเอง ซึ่งก็คือการทำงานวิจัยในระดับปริญญาเอกนั่นเอง

"Early in my delving into the technical aspects of the project, it became evident that the proposition of an autonomous house was essentially an ecological one. Contending that the development and design of the systems for the building were technical in nature, I believed that the theoretical aspects of ecological design had to be addressed first." ช่วงที่ทำงานวิจัยปริญญาเอกอยู่ที่ Cambridge นั้น คุณ Yeang ได้คลุกคลีกับคณะชีววิทยา (Biology) ซึ่งได้ช่วยผลักดันแนวคิดของเขาเป็นอย่างมาก หัวข้องานวิจัยปริญญาเอกของเขาที่ส่งเมื่อปี 1974 นั้นคือ "A Theoretical Framework for the Incorporation of Ecological Considerations in the Design and Planning of the Built Environment" ซึ่งภายหลังได้ตีพิมพ์ในปี 1995 เป็นหนังสือชื่อ Designing with Nature: The Ecological Basis for Architectural Design หนาประมาณ 211 หน้า ซึ่งถ้าใครสนใจศึกษาอย่างจริงจังละก็ต้องเล่มนี้เลย อธิบายวิธีคิด วิธีมองสถาปัตยกรรมในแบบที่คุณ Yeang พัฒนาในช่วงปริญญาเอกไว้ในรายละเอียด ซึ่งเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ คุณ Yeang ก็ยังใช้อยู่ในทุกวันนี้

เริ่มเข้าทฤษฎี

Ken_Yeang_ทฤษฎี_เบื้องต้น_Biosphere

ภาพจำลอง Biosphere: จากหนังสือ Green Design: From Theory to Practice

โลก

เริ่มที่การมองโลกก่อน เราต้องมองโลกทั้งใบเป็นเนื้อหนึ่งเดียวกันภายใต้ชื่อเรียกว่า "Biosphere" ซึ่งคำว่า sphere นี้ไม่ได้หมายถึงทรงกลมแบบลูกโลก แต่หมายถึงการมองพื้นที่ของทุกสิ่งทุกอย่างว่าอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน โดยทุกๆสิ่งมีผลกระทบต่อกันเสมอ ไม่ได้แยกขาดจากกันเหมือนดั่งที่สถาปนิกมักมองว่าสิ่งที่อยู่นอกขอบเขต site ของงานที่ตนออกแบบนั้นมีความขาดจากกันในเรื่องของระบบนิเวศ

"The interactions between ecosystems extend across artificial man-made boundaries."  ทุกอาคารที่เราออกแบบ ทุกสิ่งที่มนุษย์กระทำหรือสร้างขึ้น (man-made) ไม่ได้ตัดขาดอย่างสิ้นเชิงกับธรรมชาติ (Nature) เพราะมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลก และทุกๆอย่างในโลกก็เชื่อมโยงกัน มีผลกระทบต่อกันเสมอ แม้เวลาเราพูดถึง เราจะพูดแยกเป็น 2 คำ เช่นพูดถึงธรรมชาติคำหนึ่ง และพูดถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกคำหนึ่ง แต่มันไม่ได้แยกเป็น 2 คำโดดๆ มันมีผลกระทบเชื่อมโยงไป-กลับต่อกันเสมอๆ ไม่ใช่แม้กระทั่งแบบทางเดียว ที่เป็นไปประหนึ่งว่ามนุษย์กระทำต่อธรรมชาติทางเดียว Note: ซึ่งถ้าใครคุ้นเคยกับแนวคิดแบบ "ยานอวกาศ" (Spaceship) ของคุณ Richard Buckminster Fuller แล้วละก็ แนวคิดแบบ Biosphere เป็นเวอร์ชั่นที่เจาะลึกลงไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว Buckminster Fuller มองว่าโลกเราก็เปรียบเสมือนยานอวกาศที่มีทรัพยากรจำกัด เราทุกคนบนโลกควรร่วมมือกันเพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดนี้อย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุดนั่นเอง สำหรับ Biosphere นี้ก็คือว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของทรัพยากร แต่ไปยันระดับชีวภาพเลยทีเดียว

สถาปัตยกรรมอยู่ตรงไหน?

ถ้ามองจากมุมมองที่เล่าไปแล้วนั้น สถาปัตยกรรมควรจะอยู่ตรงไหน และควรเป็นอย่างไร? ตรงจุดนี้คุณ Yeang ได้พูดถึงเรื่องของ "Bio-Integration" หรือ "การหลอมรวมกันทางชีวภาพ" ซึ่งเป็นลักษณะที่สถาปัตยกรรมควรจะเป็น และควรจะอยู่ ตัวอย่างที่คุณ Yeang ใช้บ่อยๆก็คือ มันเปรียบเสมือนกับการที่คนบางคนต้องใช้เครื่องช่วยเหลือ หรือมีอุปกรณ์บางอย่างติดตัวเพื่อใช้ชีวิตให้สะดวกขึ้น เช่นแขนเทียม ขาเทียม เครื่องช่วยฟัง ก็คือเป็นอุปกรณ์ที่จะต้องเชื่อมต่อ เชื่อมโยง กับร่างกายของมนุษย์

ยิ่งการออกแบบอุปกรณ์เหล่านั้นทำได้ดีเท่าไหร่ ความเป็นเนื้อเดียวกัน หรือความหลอมรวมกัน ย่อมเป็นไปในระดับที่สูงขึ้นไปจนที่สุดแล้วก็แทบจะแยกจากกันไม่ออก สถาปัตยกรรมนั้นก็ควรจะเป็นอย่างนั้นกับโลกใบนี้ ก็คือเชื่อมต่อกันแบบ Seamless และ Benign ซึ่งหมายความว่าสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันในระดับของชีวภาพ ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ ทั้งระบบ ความเหมาะสมต่างๆ ลองนึกง่ายๆเช่นเด็กแขนขาด จะใช้แขนเทียม ก็คงไม่ได้เอาแขนผู้ใหญ่มาใส่ และแขนเทียมก็มีตั้งแต่ระดับที่เอามาแปะเฉยๆ ไปจนเชื่อมต่อกับสมองจนขยับนิ้วเทียมได้ หรือแม้แต่การถ่ายเลือดก็ต้องเป็นเลือดที่เข้ากันได้เป็นต้น นี่แหละคือระดับของความเป็นเนื้อเดียวกัน แต่มันยังมากกว่านั้นไปอีกขึ้นหนึ่ง ซึ่งคำ "Benign" ยังมีความหมายรวมไปถึงการให้ประโยชน์กลับคืนสู่สภาพแวดล้อมอีกด้วย ไม่ใช่เพียงลดผลประทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้นความร้อยเรียง ความเชื่อมโยงตรงนี้คุณ Yeang เรียกรวมๆกันว่า "Eco-Infrastructure"

Ken_Yeang_ทฤษฎีเบื้องต้น_Input_Output_Built_Environment

ภาพแสดง Input และ Output ของ Built Environment: จากหนังสือ Designing and Nature

ส่วนประกอบพื้นฐานของความเป็นนิเวศ (Eco-Infrastructure)

ตัว Eco-Infrastructure นี้เปรียบเสมือนเส้นใยที่ถักทอร้อยเรียงกันอยู่ในโลกใบนี้ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรม การออกแบบเพื่อความเป็นนิเวศ (Eco-Design) นั้นเป็นเรื่องของการผสมรวมกันของส่วนประกอบพื้นฐานทั้ง 4 อย่างที่ Ken Yeang ได้ชี้ให้เห็น โดยแยกเป็น 4 สีก็คือ:

  1. Green: Ecological Eco-Infrastructure: เป็นส่วนของธรรมชาติ เป็นส่วนที่สามารถให้อากาศที่สะอาด น้ำที่สะอาด ให้ชีวิต ลดความร้อนของเมืองลง ลดผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เรียกว่าเป็นตัวธรรมชาตินั่นเอง แต่เราต้องไม่มองว่าเป็นธรรมชาติที่อยู่โดดๆ แต่ต้องมองเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถสอดประสานกับสิ่งอื่นๆได้ เกื้อหนุน เชื่อมโยงกันได้
  2. Grey: Engineering Eco-Infrastructure: เป็นเรื่องของระบบวิศวกรรมในระดับเมือง เช่นถนน การระบายน้ำของเมือง การจัดการน้ำเสียของเมือง ระบบโทรคมนาคม โครงข่ายด้านพลังงาน สิ่งเหล่านี้ควรถูกออกแบบให้เข้ากันกับ Green Infrastructure ไม่ใช่ว่าจะไปปรับ Green Infrastructure ให้มาเข้ากับ Grey และระบบของ Grey ควรถูกออกแบบมาให้มีความยั่งยืนอีกด้วย
  3. Blue: Water Eco-Infrastructure: ระบบที่ไปด้วยกันกับ Grey Infrastructure ก็คือ Blue Infrastructure ที่ควรจะเป็นแบบ 'Close Loop' หรือการหมุนเวียนแบบปิด น้ำฝนควรถูกนำมาใช้ใหม่ น้ำบนพิ้นผิวควรถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพก่อนที่จะปล่อยออกไปอย่างเหมาะสม น้ำในทุกๆส่วนควรจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างเต็มประโยชน์มากที่สุด การออกแบบต้องคำนึงถึงทางไหลของน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรมีบ่อเก็บน้ำฝนหรือน้ำใดๆที่เข้ามาในพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ไม่ใช่เพียงใน site แต่เป็นไปในระดับเมือง เพื่อน้ำที่เก็บไว้ยังสามารถช่วยเหลือสภาพแวดล้อมโดยรวมได้อีกด้วย เช่นเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ๆต่ำกว่า หรือการนำไปใช้กับพื้นที่ที่ขาดน้ำเป็นต้น
  4. Red: Human Eco-Infrastructure: อาคาร บ้าน ทุกๆอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นรวมกันอยู่ในนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ อาหาร จริยธรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้มักถูกลืมเวลาสถาปนิกออกแบบอาคาร หรือมีการออกแบบเมือง

ในส่วนของ Eco-Infrastructure นั้นจะเห็นได้ว่าเป็นไปในลักษณะของภาพใหญ่ทั้งสิ้น เป็นไปในระดับเมืองหรือระดับประเทศเป็นหลัก เวลาสถาปนิกออกแบบ แม้ว่าเราจะตัดออกมาแค่ site แล้วเขียนแบบภายในนั้น หรือดูภาพใหญ่ขึ้นในรูป plan ก็ตาม แต่ Infrastucture เหล่านี้ก็เป็น layers ที่ซ่อนอยู่ภายในเมือง และเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมต่อ เชื่อมโยงกับอาคารที่เรากำลังจะออกแบบเสมอๆ ฉะนั้นมิติที่สถาปนิกควรมองนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องของกายภาพ เช่นอาคารตรงข้ามสูงเท่าไหร่ ถนนกว้างเท่าไหร่ แต่ควรมองไปให้ลึกกว่านั้น มองหาความเชื่อมโยงโดยรวมที่มากกว่าเรื่องของกายภาพ

Ken_Yeang_ทฤษฎี_เบื้องต้น_Four_Strands_Eco_Infrastructures

ภาพ Eco-Infrastructure: จากหนังสือ Green Design: From Theory to Practice

การหลอมรวมกันทางชีวภาพ (bio-integration)

การออกแบบสำหรับการหลอมรวมกันทางชีวภาพ (bio-integration) นั้นสามารถมองได้ 3 ประเด็นด้วยกัน

  1. กายภาพ (Physical)
  2. ระบบ (Systemic)
  3. ทรัพยากร (Temporal)

ผมจะอธิบายแต่ละประเด็นสั้นๆดังนี้

  1. การหลอมรวมกันทางกายภาพเป็นเรื่องของการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ในเชิงกายภาพและชีวภาพ เราจะต้องเข้าใจสภาพของพื้นที่อย่างดีเสียก่อน วิเคราะห์ความสามารถในการรองรับการออกแบบของพื้นที่นั้นๆ วิเคราะห์ว่าอะไรควรอยู่ตรงไหนของพื้นที่ ตรงไหนควรเก็บเอาไว้ ตรงไหนสามารถเข้าไปทำอะไรได้แค่ไหน และอื่นๆที่เป็นเรื่องของกายภาพของพื้นที่และสิ่งที่เรากำลังจะออกแบบ
  2. การหลอมรวมกันทางระบบเป็นเรื่องของความเชื่อมต่อกันระหว่างตัวสถาปัตยกรรมและโลกข้างนอก การมองเรื่องระบบตรงนี้มีลักษณะคล้ายๆการออกแบบแบบ Selective Mode หรือการออกแบบที่ให้สภาพแวดล้อมภายนอกกับภายในมีความเชื่อมต่อกัน แต่ Systemic ที่คุณ Yeang กล่าวถึงมันไปไกลกว่านั้น การหลอมรวมกันทางระบบเป็นไปในลักษณะของการมีปฏิสัมพันธ์กันทั้ง 2 ทาง ไม่ใช่ว่าอาคารจะรับอย่างเดียว หรือให้อย่างเดียว หรือไม่รับเลย (exclusive mode) แต่เป็นการรับและให้ เชื่อมต่อ ถ่ายเทกันไปมา เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ หรือยิ่งเป็นอาคารแบบที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกเลยนั้นคุณ Ken Yeang บอกว่า "...they will remain disparate artifical items and potential pollutants." ซึ่งก็หมายความว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและอาจจะกลายเป็นมลพิษต่อโลกนั่นเอง
  3. การเป็นหนึ่งเดียวกันในเชิงทรัพยากร (Temporal integration) คำว่า Temporal ที่จริงๆแปลว่า "เวลา" หรือ "ชั่วคราว" แต่ผมแปลว่าทรัพยากรนั้น มันเป็นเรื่องของการที่มองว่ามนุษย์เราเข้าไปสร้างสิ่งต่างๆเพียงแค่ "ชั่วคราว" เราจึงไม่ควรไปทำลายระบบนิเวศที่มีอยู่แล้ว เพราะเมื่อเราจากไป มันยากที่คนรุ่นหลังจะเข้ามาทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม หรือมีความสมบูรณ์เหมือนเดิม หรือแม้แต่การที่เข้าไปตัดต้นไม้เก่า เพื่อปลูกต้นไม้ใหม่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงให้ดีๆ ผมคิดว่าข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ Designing with Nature แสดงออกถึงหลักคิดตรงนี้ได้ดี:

"The designer must ensure that as long as the impacts on an ecosystems are kept within the threshold of the ecosystem (i.e., by temporary changes), it can recover, given time, and subsequent large-scale degradation of the ecosystem will not be brought about. However, once certain biotic communities and their species have been intentionally obliterated, they cannot be reinstated easily. It is generally easier to protect an existing ecosystem than to restore it after it has been cleared."

ทิศทางของการหลอมรวม: การจำลองระบบนิเวศ (Ecomimesis)

ประเด็นต่อมาก็คือว่า รูปแบบของการออกแบบ หรือการหลอมรวมที่บอกไปข้างต้นนั้น จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ลอกเลียน เลียนแบบ หรือจำลองระบบนิเวศเข้ามา (Ecomimesis) โดยคุณ Yeang ได้ให้ลักษณะความหมายเอาไว้ว่า:

"imitating ecosystems' processes, structure, features and functions"

แนวความคิดตรงนี้ยืนอยู่บนความคิดที่ว่าในระบบนิเวศไม่มีของเสีย (zero waste) ทุกอย่างมีที่มามีที่ไป ทุกอย่างมีการนำกลับมาใช้ใหม่เสมอในธรรมชาติ ทุกอย่างอยู่ร่วมกันเป็นเนื้อเดียวกัน อิงอาศัยกัน เกื้อหนุนกัน นี่คือระบบนิเวศที่สถาปัตยกรรมควรเอาเยี่ยงอย่าง คุณ Yeang ได้เน้นย้ำเอาไว้ว่า:

"Our built environment must imitate eco-systems in all respects, e.g. recycling, using energy from the sun for photosynthesis, increasing energy efficiency, achieving an holistic balance of biotic and abiotic constituents in the eco-system."

สิ่งที่คุณ Yeang พยายามเน้นย้ำตรงจุดนี่คือ 'Closing the Loop' หรือการทำให้เป็น 'ระบบปิด' นั่นเอง ไม่ให้ของเสียรั่วไหลออกไป เราต้องออกแบบให้สิ่งต่างๆมีที่มาและที่ไปที่ไม่เกิดเป็นมลภาวะต่อสิ่งอื่นๆ ไม่จำกัดแค่มนุษย์ แต่รวมไปถึงธรรมชาติ และสัตว์ต่างๆอีกด้วย

พวก "wannabees" และ อะไรที่ไม่ใช่!!

คุณ Yeang เรียกพวกบริษัทสถาปนิกอื่นที่พยายามจะออกแบบให้มันเป็น Ecological Architecture แต่เป็นเพียงแค่เปลือกๆว่า พวก "Wannabees" ลักษณะของพวก wannabees นี้ก็คือมันจะปลูกต้นไม้เยอะๆ ไม่ก็แปะสิ่งที่คุณ Yeang เรียกว่า gadget หรืออุปกรณ์ทางวิศวกรรมเช่น Solar Cell หรือพวก Wind Turbine โดยไม่ได้คำนึงถึงภาพรวมเลย แค่ออกแบบมายังไงก็ได้แล้วก็แปะของพวกนั้นเข้าไป

คุณ Yeang ยังเคยบอกไว้ว่าแม้แต่ตัวนักออกแบบเองบางทียังเข้าใจผิดเลยว่าการแปะสิ่งประดิษฐ์ต่างๆเข้าไปบนอาคารจะทำให้อาคารเป็นอาคารที่ออกแบบเพื่อความเป็นนิเวศ (Ecological Design)

"Many designers wrongly believe that if they stuff a building with enough ecogadgets such as solar collectors, wind generators, photovoltaics and biodegestors then they will instantly have an ecological design."

แต่ถึงอย่างไรคุณ Yeang ก็บอกว่า ปัญหาอย่างหนึ่งคือลูกค้าไม่สามารถรู้ได้ว่าที่จะรู้ว่าของจริง (authentic) มันต่างกับของเก๊ยังไงด้วยการมองจากภายนอก

"The problem is that clients can't tell the difference between the authentic solution and what the others offer."

อีกอย่างหนึ่งก็คือมันไม่มีวิธีแก้เดียวที่แก้ได้ทุกปัญหา หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า มันไม่มีวิธีการออกแบบเดียวที่จะใส่ไปได้ในทุกงานออกแบบ ฉะนั้นเราต้องตรวจสอบ ศึกษา วิจัย แต่ละความต้องการ และแต่ละสถานที่ตั้งของโครงการให้เจาะจง และแก้ไขปัญหาไปตามที่ควรจะเป็น ให้เหมาะสมกับสภาพนั้นๆ

"It is easy to be misled or seduced by technology and to think that if we assemble enough eco-gadgetry in the form of solar collectors, photovoltaic cells, biological recycling systems, building-automation systems and double-skin façades in one single building that this can automatically be considered ecological architecture... Ecological design is not just about low-energy systems; to be fully effective, these technologies need to be thoroughly integrated into the building fabric; they will also be influenced by the physical and climatic conditions of the site. The nature of the problem is therefore site specific. There will never be a standard 'one size fits all' solution."

สรุป

ที่ผมได้เล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดของคุณ Ken Yeang เท่านั้น แต่ก็คงพอจะทำให้เห็นได้ว่าทิศทางการมองการออกแบบของ Ken Yeang นั้นเป็นไปในทิศทางใด และอยู่บนพื้นฐานแบบใด ไม่ได้เป็นเพียงแค่เอาต้นไม้มาแปะ หรือใส่ Solar Cell เท่านั้น แต่เป็นการมองโลกในเชิงของชีวภาพที่สอดคล้องเชื่อมโยง เชื่อมต่อกันทั้งหมด และการออกแบบสถาปัตยกรรมก็ควรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกในเชิงที่เกื้อกูลกันนั่นเอง

อยากบอก: ผมนับถือแนวคิดเค้ามาก อยากให้ผู้อ่านทุกคนรู้ว่ามันมีอะไรมากกว่านี้มากๆ ฉะนั้นขอให้คำนึงไว้ว่าถ้าสนใจเรื่องตรงนี้ ควรศึกษาเพิ่มเติม อย่าหยุดแค่บทความนี้นะครับ

ทิ้งท้าย

ผมขอทิ้งท้ายไว้ด้วยเรื่องของคุณ Yeang ในช่วงที่เปิดบริษัทใหม่ๆที่ประเทศมาเลเซียในปี 1975 ซึ่งหลังจากที่คุณ Yeang กลับมาเลเซียหลังจากที่เรียนปริญญาเอกที่ Cambridge แล้ว แน่นอน อย่างที่ผมเล่าในตอนแรก ว่าแนวคิดนี้ยังใหม่สำรับที่ AA แล้วการหางานที่มาเลเซียละจะทำยังไง?

คุณ Yeang หาลูกค้าด้วยการเข้าหา Developers เพื่อนำเสนอแนวคิดและแสดงให้เห็นผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจก่อนที่จะเริ่มออกแบบ คุณ Yeang มองว่าการออกแบบจะต้องมีความดึงดูดในเชิงพาณิชย์ (commercially attractive) ด้วย และคุณ Yeang ไม่เคยที่จะให้ลูกค้าต้องยอมตามเขาเพียงเพราะเขาดังหรืออะไร แต่ทุกอย่างจะต้องถูกอธิบาย ต้องมีเหตุผล และต้องมีเป้าหมายเสมอ ซึ่งคุณ Yeang บอกว่ากว่าจะมีลูกค้าเข้ามาหาเขาเพื่อให้ออกแบบสถาปัตยกรรมสีเขียวจริงๆ ก็เพิ่งเริ่มเมื่อช่วงปลายปี 2005 นี้เอง

ลองคิดดูสิครับ ใช้เวลา 30 ปีพยายามนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิด กว่าจะมีลูกค้าเริ่มเข้ามาหา... ผมมักคิดถึงเรื่องนี้เสมอเวลาคนบอกผมให้ล้มเลิกความฝันหรือความตั้งใจใดๆ เพราะผมได้รับรู้เรื่องราวของคนที่เค้าไม่ทิ้งแนวคิดของเขา แต่ต่อสู้เพื่อมัน (เช่น Zaha Hadid อีกคน) มันคงไม่ได้สำเร็จกันทุกคน แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นกำลังและแรงบันดาลใจที่ดีครับ :D

เนื้อหามาจาก: Designing with Nature: Ecological Basis for Architectural Design (1995) โดย Ken Yeang Eco Architecture: the work of KEN YEANG (2011) โดย Sara Hart Green Design: From Theory to Practice (2011) Edited โดย Ken Yeang และ Arthur Spector