maipatana.me

BIM Level 2 ที่ UK ในปี 2016

BIMสถาปัตยกรรม

BIM Level 2 หรือ Building Information Modeling Level 2 เป็นมาตรฐานการออกแบบใน UK ที่กำลังจะมาในปี 2016 นี้ โดย BIM เป็นระบบการทำงานในกระบวนการออกแบบอาคาร ชื่อโปรแกรมภายใต้ระบบ BIM ที่เรามักจะได้ยินชื่อบ่อยๆก็คือ Revit และ ArchiCAD

มาตรฐานเรื่องของ BIM ตรงนี้ไม่ได้จำกัดการใช้ประโยชน์เพียงการออกแบบเท่านั้น แต่รวมไปถึงฝ่ายผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ผู้รับเหมา และการใช้งานอาคารอีกด้วย

จากรูปที่ 1 จะเห็นว่ามีการแบ่งระดับตั้งแต่ Level 0 ถึง Level 3 โดยเป้าหมายในปี 2016 ใน UK คือ BIM Level 2 แต่เฉพาะอาคารราชการเท่านั้น โดยย่อแล้วแปลว่าในปี 2016 การออกแบบอาคารราชการใน UK ต้องใช้ BIM ในการทำงาน ต้องส่งงานเป็น BIM กันทุกปาร์ตี้

BIM_Level_2_ที่_UK_2016_Plan

รูปที่ 1 แสดงลำดับขั้น BIM ตั้งแต่ขั้น 0 ถึง 3: source

ผมจะอธิบายรายละเอียดของแต่ละ Level โดยย่อดังนี้

CAD (Computer-Aided Design) Level 0

เป็นระบบ CAD แบบเก่าธรรมดา ทำงาน 2D ล้วนๆ โดยใช้ AutoCAD หรือโปรแกรมอื่นที่เป็นแบบ 2D แต่ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ได้เขียนมือส่ง เวลาจะประสานงานกับปาร์ตี้อื่นๆก็ขอไฟล์เค้าเอาเส้นมาซ้อนๆกัน หรือไม่ก็ปริ้นแบบมาดูเทียบกัน ส่งงานเป็นกระดาษ ถ้าไม่ส่งเป็นกระดาษก็ส่งเป็นไฟล์ PDF สรุปแล้วก็คือเป็นแบบ 2D นั่นเอง

2D+3D Level 1

ระดับนี้เป็นการนำ 3D เข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ในการผลิตแบบก็ยังทำเป็น 2D อยู่ ก็คือยังทำแยกกัน 2 ขั้นตอน 2D กับ 3D นี่เป็นวิธีการทำงานโดยปกติของวงการอุสาหกรรมการก่อสร้างในปัจจุบัน ก็คือมีการปั้น 3D ด้วย แต่ยังส่งงานเป็น 2D อยู่ โดยอาจจะมาเขียนแบบให้ตรงกับที่ปั้น 3D เอาไว้ หรือลองปั้น 3D ให้ตรงกับที่เขียนแบบเพื่อเช็คความถูกต้องนั่นเอง

BIM_Level_2_ที่_UK_2016_Information_delivery

รูปที่ 2 แสดงสภาพแวดล้อมของข้อมูล (CDE): source

BIM Level 2

ระดับ BIM Level 2 นี้เป็นเป้าหมายใน UK ปี 2016 สำหรับอาคารราชการ สั้นๆคือทุกคนใช้ BIM หมดในงานอาคารราชการ แต่จริงๆแล้วมันเป็นการเน้นเรื่องของการทำงานร่วมกัน (collaborative working) ก็คือว่าแต่ละปาร์ตี้ก็ทำงานเป็น 3D แล้วก็มีการแชร์ข้อมูลกัน ข้อมูลเชื่อมโยงกันและสอดคล้องกับการส่งข้อมูลให้แก่กันและกัน สามารถเอาโมเดลของทุกๆปาร์ตี้มาตรวจสอบหาความผิดพลาดได้ (clash detection) รวมไปถึงการส่งให้ลูกค้าในตอนสุดท้ายอย่างที่แสดงในรูปที่ 2 อีกด้วย

เนื้อหาตรงนี้มีเยอะมาก แต่หลักๆคือ 1) มาตรฐานการทำงานร่วมกันของทุกๆฝ่าย 2) มาตรฐานของระบบไฟล์

  1. มาตรฐานการทำงานร่วมกันของทุกๆฝ่าย นอกจากที่กล่าวไปข้างบนเรื่องการทำงานใน BIM ด้วยกันแล้ว ยังเป็นเรื่องของกระบวนการทำงานอีกด้วย อย่างที่เห็นในรูปที่ 3 ที่แสดงถึงกระบวนการทำงานภายใต้มาตรฐาน PAS 1192-2 หรือเรียกว่า CAPEX อธิบายภาพนี้คร่าวๆก็คือมันเริ่มจากมุมขวาบน ตอนที่ลูกค้าตกลงจ้าง ให้เริ่มโปรเจค หัวหน้าทีมก็แจกงานให้แต่ละคน แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบส่วนไหนยังไงก็แบ่งกันไป แล้วก็เข้ามาในมาตรฐาน BS 1192:2007 คือเริ่มทำงานภายใต้กรอบนี้

ภายในกรอบ BS 1192:2007 (Collaboprative production of architectural, engineering and consturction information - Code of Practice) ก็คือเริ่มจากมุมขวาบน กล่องสีฟ้าๆ นั่นคือแต่ละคนก็ทำงานกันไปในส่วนของตัวเอง แล้วก็มีการ Approve จึงมาต่อช่องด้านซ้ายบน ก็คือว่างานของแต่ละคนก็มารวมกัน ของแต่ละปาร์ตี้ ตรวจสอบๆ พอตรวจเสร็จก็ Authorised ไปช่องซ้ายล่าง ซึ่งเป็นการเอาข้อมูลไปใช้ เช่นไปคำนวณราคา ไปคำนวณพลังงาน ไปทำโน่นทำนี่เป็นต้น แล้วก็วนๆอยู่อย่างนี้จนงานละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ จนเอาไปก่อสร้าง ส่วนด้านซ้ายที่มันออกนอกกรอบไปเพราะบางทีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในโปรเจค

BIM_Level_2_ที่_UK_2016_CAPEX

รูปที่ 3 แสดงกระบวนการทำงานภายใต้ CAPEX: source

  1. มาตรฐานของระบบไฟล์คือเรื่องของการส่งไฟล์ให้แก่กันในแต่ละขั้นตอน การตั้งชื่อไฟล์ และอื่นๆ เช่นเรื่องของ BIM ที่ส่งไฟล์ให้กันในรูปแบบ IFC หรือเรื่องของ COBie (Construction Operations Building Information Exchange) ซึ่งในตอนนี้คือ Excel ที่รวมข้อมูลทุกอย่างของโครงการเอาไว้ รูปร่างหน้าตาคร่าวๆของ COBie ดูได้ในรูปที่ 4
BIM_Level_2_ที่_UK_2016_COBie

รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างของ COBie: source

จริงๆแล้วผมบอกตรงๆว่า BIM Level 2 รายละเอียดเยอะมากๆ มีตัวมาตรฐานอยู่หลายฉบับมากทีเดียว (ดูได้ ที่นี่)

Level 3: iBIM

ผมคิดว่าในตอนนี้ยังไม่มีใครรู้จริงๆหรอกว่า BIM Level 3 เป็นยังไง เพราะมันยังไม่มีบทสรุปที่ลงตัว แต่แนวคิดก็คือการที่ทุกๆคนทำงานภายใต้ไฟล์เดียวกัน ข้อมูลต่างๆอัพเดทได้ตลอดเวลา การแก้ไขของแต่ละคน ของแต่ละปาร์ตี้สามารถส่งถึงกันอย่างรวดเร็ว อาจจะไม่ใช่ว่าต้อง email ไฟล์มาให้กันอีกแล้ว แค่กดอัพเดทก็ได้ทันทีเลยเป็นต้น

จริงๆเค้าว่ามีคนคิดเรื่อง BIM Level 4 แล้วด้วยนะ แต่ผมว่ามันยังวุ้นมากๆ

ของไทย

จริงๆผมไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับ BIM ในไทยมากเท่าไหร่ แต่ล่าสุดเห็นว่ามีการออกคู่มือและตัวอย่างมาด้วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แนะนำว่าควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถดูข้อมูลจากเว็บของ ASA ได้ ที่นี่ ครับ

ส่งท้าย

บรรยากาศในวงการอุสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศ UK ค่อนข้างเป็นไปในอารมณ์ประมาณว่า (ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง BIM เท่านั้น) รัฐชอบกำหนดอะไรที่มันทำยากๆ แต่ตัวอุสาหกรรมก็พยายามทำ โดยช่วยกันระหว่างฝ่ายวิชาชีพและวิชาการ รวมไปถึงพวกบริษัทผู้ผลิต ผู้รับเหมา ทุกๆคน บางทีบางเรื่องทำไม่ได้ก็มี ก็ยื่นเรื่องบอกรัฐไปว่าอันไหนทำไม่ได้จริงๆ แต่ก็มีบางครั้งที่รัฐตามไม่ทันอุสาหกรรมก็มีเช่นกัน