maipatana.me

บรรยากาศในห้องเลคเชอร์ของฟูโกต์

ฟูโกต์การศึกษา

วันก่อนที่ห้องสมุดสถาปัตย์มีหนังสือเล่มใหม่มา ชื่อหนังสือ The Birth of Biopolitics: Lectures at the College De France 1978-1979 โดย Michel Foucault ผมเปิดหน้าแรกๆไปเจอย่อหน้าหนึ่งที่อ้างอิงมาจากที่ Gérard Petitjean ได้เขียนไว้ใน Le Nouvel Observateur ในปี 1975 โดย Petitjean เขียนบรรยายถึงบรรยากาศในห้องเลคเชอร์ของฟูโกต์ โดยผมอยากจะแปลเอาไว้ตรงนี้


"ฟูโกต์เข้ามาในห้องสโลปด้วยความรวดเร็วและคล่องแคล่วดุจดั่งคนที่แทรกตัวลงไปในน้ำ เขาก้าวผ่านทุกๆอย่างเพื่อไปยังเก้าอี้ของเขา ผลักเครื่องบันทึกเสียงออกไปเพื่อที่เขาจะวางกระดาษลง ถอดเสื้อแจ็คเก็ตออก จุดตะเกียง และเริ่มการบรรยายด้วยความเร็วเต็มพิกัด เสียงที่แน่นและมีประสิทธิภาพของเขา ถูกขยายด้วยเครื่องกระจายเสียง ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นสมัยใหม่สิ่งเดียวในห้องที่แสงสะท้อนจากฝ้าเพดานทรงโดมแทบจะกระจายไม่ทั่วถึง

ห้องนี้มีที่ทั้งหมด 300 ที่นั่ง และมีคนทั้งหมด 500 คนที่กำลังเติมเต็มทุกๆช่องว่างในห้อง... ที่นี่ไม่มีบรรยากาศของการพูดกับสาธารณะอยู่เลย มันชัดเจนและมีประสิทธิภาพอย่างมาก และไม่มีช่องเหลือสำหรับความไม่พร้อมใดๆทั้งนั้น ฟูโกต์มีเวลา 12 ชั่วโมงในแต่ละปีที่จะอธิบายต่อคาบเรียนสาธารณะเกี่ยวกับงานวิจัยของเขาในปีที่ผ่านมา ฉะนั้นทุกๆอย่างจึงถูกอัดแน่นและเติมเต็มทุกๆช่วงเวลาเหมือนกับคนที่มีสิ่งที่อยากจะพูดมากเกินไปกว่าที่เขาจะมีพื้นที่พอ เมื่อถึงเวลา 19:15 ฟูโกต์หยุด นักศึกษารีบกรูกันเข้าไปที่โต๊ะของฟูโกต์ แต่ไม่ใช่เพื่อไปพูดคุยด้วย แต่เพื่อหยุดเทปที่อัดเอาไว้ ไม่มีคำถามใดๆ ในการเดินทางนี้ ฟูโกต์โดดเดี่ยว

ฟูโกต์ให้ข้อคิดเห็นเอาไว้ว่า: "มันน่าจะเป็นไปได้ที่จะถกเถียงกันในเรื่องที่ผมเพิ่งอธิบายไป ในบางครั้ง ถ้ามันเป็นเลคเชอร์ที่ไม่ดี มันก็ต้องการแค่นิดเดียว แค่คำถามเดียว ที่จะทำให้ทุกอย่างมันกลับมาโอเคได้ แต่ถึงกระนั้น คำถามนี้ก็ไม่เคยมาถึง ลักษณะสังคมของฝรั่งเศษทำให้การถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมาเป็นไปไม่ได้ และเมื่อไม่มีเสียงตอบรับใดๆ คาบเรียนนี้ก็กลายเป็นเหมือนกับการแสดงละครเท่านั้น ความสัมพันธ์ของผมและผู้คนเหมือนกับความสัมพันธ์ของนักแสดงละครหรือนักแสดงกายกรรม เมื่อผมพูดจบ ก็จะเหลือแต่เพียงความสันโดษเท่านั้น...""


จบละครับ จริงๆก็มีหลายส่วนที่ผมอาจจะแปลไม่ตรง เพราะผมพยายามคงอารมณ์ของภาษาไว้มากกว่าความหมาย เช่น ตรงที่บอกว่า ลักษณะสังคมของฝรั่งเศษ จริงๆแล้วคือคำว่า "The group effect in France makes any genuine discussion impossible." เป็นต้น

ถ้าใครสนใจก็ลองไปหาของจริงอ่านดูครับ