เรียนสถาปัตย์ที่ UK เครียด
สวัสดีครับ ช่วงก่อนผมเห็นมีคนแชร์เรื่องประมาณว่า เรียนสถาปัตย์ที่ UK เครียด เครียดมาก เครียดกันเยอะ มีเป็นสถิติต่างๆออกมา ผมก็ดูผ่านๆ ก็ไม่อะไร จนกระทั่งวันก่อนผมได้มีโอกาสอ่านวารสารของ The Architects’ Journal Vol. 243 Issue 16 ที่ออกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปี 2016 ซึ่งเป็นฉบับที่ว่าด้วยเรื่องที่นักศึกษาคณะสถาปัตย์ใน UK เครียด และกังวลในเรื่องต่างๆ จึงได้เห็นว่า อ้อ นี่นี่เอง ที่เป็นที่มาของเรื่องที่คนแชร์ๆกันในช่วงก่อน
รูปที่ 1 วารสาร The Architects’ Journal Vol 243 Issue 16
ผมจึงอยากจะมาเล่าคร่าวๆ พร้อมกับชี้จุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจให้อ่านกับครับ โดยข้อมูลจะอ้างอิงจากวารสาร AJ ฉบับนี้แหละครับ
ที่มาของเรื่องราว
คือเมื่อต้นปีนี้ มีนักศึกษาปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Nottingham ได้โพสรูปภาพตัวเองตอนที่ทำงาน final โดยนักศึกษาคนนี้ได้นอนแค่ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อสองวัน ต้องดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง สภาพร่างกายและจิตใจก็ย่ำแย่ และก็ต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากที่ส่งงานแล้ว แต่ก็ได้เกรดโอเค ได้เกรด 2.1 ถ้าเทียบกับที่ไทยก็น่าจะสัก 3.6-3.8
นักศึกษาคนนี้บอกว่าการเรียนคณะสถาปัตย์ทำให้เธอกลายเป็น “หุ่นยนต์ทาสของคอมพิวเตอร์ที่ร้องไห้อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง”
“laptop-slaving robot who would cry at least once a week”
เรื่องราวนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาอย่างหนึ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมการศึกษาสถาปัตยกรรม ซึ่งก็เป็นที่มาของ AJ ฉบับนี้ที่ไปเก็บข้อมูลโดยทำแบบสอบถามกับนักศึกษาคณะสถาปัตย์ใน UK
เครียดอะไร?
รูปที่ 2 แสดงข้อมูลว่านักศึกษาต้องการหรือหาทางช่วยเหลือตัวเองด้านสุขภาพจิตหรือไม่
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าที่เค้าว่าเครียด หรือมีสภาพจิตย่ำแย่อะไรพวกนี้ มันไม่ใช่ว่าเค้ารู้สึกเครียด แต่ที่เค้าถามนักศึกษาก็คือว่า "นักศึกษาคิดว่าจะต้องไปปรึกษานักสุขภาพจิตหรือหาความช่วยเหลือในเรืองนี้ไหม?"
“Have you sought help for stress or mental health related issues as a result of your course?”
โดยในรูปที่ 2 แสดงให้เห็นว่านักศึกษามากกว่าครึ่ง (52%) เคย กำลัง หรือคิดว่าต้องการความช่วยเหลือในด้านความเครียดหรือสุขภาพจิต
สิ่งสำคัญตรงนี้ผมคิดว่ามันคือการที่เรารู้ว่าเราเครียดหรือมีปัญหา เราควรหาทางช่วยเหลือตัวเอง เช่นไปปรึกษานักสุขภาพจิต หรืออะไรก็ว่าไป ไม่ใช่การเก็บกดเอาไว้ ถ้ามีปัญหาก็บอกเลยว่ามีปัญหา ถ้าต้องการความช่วยเหลือก็บอกเลยว่าต้องการความช่วยเหลือ
การไปปรึกษานักสุขภาพจิตที่นี่ค่อนข้างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งอาจจะไม่ได้ธรรมดามาก แต่ไม่ได้ประหลาด อย่างที่มหาลัยที่ผมอยู่ก็มีแผนกนี้ของมหาลัยเลย ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือกับนักศึกษาที่เครียดหรือมีปัญหาด้านจิตใจอยู่ตลอด
ทีนี้ เวลาพูดว่าเครียดเนี่ย ทาง AJ ก็ได้เจาะลึกเข้าไปอีก ไม่ใช่ว่าเครียดแบบรวมๆ แต่เก็บข้อมูลลึกลงไปเช่น เรื่องการอดหลับอดนอน การถูกขอให้ทำงานฟรี เงินเดือน ความรู้สึกคุ้มค่าของสิ่งที่ได้เรียน การใช้หนี้เงินที่กู้ยืมมาเรียน และอื่นๆอีก โดยผมคงไม่ยกมาทั้งหมด แต่จะเล่าแค่ส่วนที่ผมคิดว่าน่าสนใจนะครับ
การอดหลับอดนอน
รูปที่ 3 แสดงเปอร์เซ็นของการอดหลับอดนอนของนักศึกษาคณะสถาปัตย์
การอดหลับอดนอนดูจะเป็นเรื่องธรรมดาของการศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และยังรวมไปถึงการทำงานเป็นสถาปนิกอีกด้วย โดยหลายๆคนที่ผมรู้จักก็บอกว่ามันเป็นเรื่องของคนที่ไม่รู้จักบริหารเวลา หรือตัวเขาเองก็ไม่เคยจะต้องอดหลับอดนอน เฉพาะคนที่บริหารเวลาไม่เป็น หรืออู้งานในเวลากลางวัน เท่านั้นที่ต้องอดหลับอดนอน เป็นต้น
ตัดเรื่องพวกนั้นออกไปก่อน ประเด็นตรงนี้ก็คือว่า มันมีอยู่จริงๆ การที่นักศึกษาอดหลับอดนอนเพื่อทำงานส่ง มันมีอยู่จริงๆ แล้วเหตุผลส่วนหนึ่งที่มีคนชี้ให้เห็นก็คือว่า ตัวผู้สอนเองก็จะชื่นชอบ ถ้านักศึกษามีงานมาเต็ม ส่งงานเยอะ แล้วมันก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ เอางานของคนที่อดหลับอดนอน ที่มันทำมาเยอะๆ มาเป็นตัวเปรียบเทียบกับบางคนที่มีงานแต่พอดี เป็นต้น
ปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่มีอาจารย์จากที่ Sheffield School of Architecture ชี้ให้เห็นคือการที่คณะเปิดให้นักศึกษาทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง มันทำให้นักศึกษาสามารถทำงานได้อย่างไม่หยุดไม่หย่อน มาทำงานข้ามคืนได้อย่างสะดวกสบาย โดยการทำแบบนี้ยังเป็นการส่งเสริมการทำงานฟรีอีกด้วย
การทำงานฟรี
ตอนจบเรื่องอดหลับอดนอน หลายคนอาจจะงงว่า มันเกี่ยวอะไรกับการทำงานฟรี คืองี้ครับ วิธีคิดของเค้าก็คือว่า เราเรียนหนังสือ ก็เหมือนทำงาน แบบว่า 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ส่วนเวลาทำงานหรือทำการบ้านก็ควรจะแบ่งๆเอา โดยถ้าเป็นไปได้อย่าให้เกิดจากเวลาที่ว่านั้น การต้องทำงานล่วงเวลา หรืออดหลับอดนอนทำงาน ก็คือการฝึกให้เราทำงานเยอะเกินว่าที่สมควรจะทำ เราก็จะชินชา และยอมรับกับการทำงานโดยไม่ได้รับผลตอบแทน นั่นเองครับ
รูปที่ 4 แสดงเปอร์เซ็นของนักศึกษาที่เคยถูกขอให้ทำงานฟรี
John Assael จาก Assael Architecture Limited ได้บอกว่าการทำงานฟรี นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่มีผลมาจากทางวิชาชีพ มีบริษัทหลายๆแห่งที่ขอให้นักศึกษาทำงานโดยไม่ต้องรับค่าตอบแทน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่อง “น่าละอาย” (disgraceful) เป็นอย่างมาก และทำให้วิชาชีพสถาปนิกกลายเป็นเรื่องของชนชั้นกลางมากขึ้นไปอีก
เพราะทำให้คนที่ไม่ได้ร่ำรวยมาก ไม่สามารถเข้าแข่งขันกับคนที่มีครอบครัวคอยรองรับค่าใช้จ่ายในการทำงานฟรีได้ การแข่งขันที่ว่า ก็คือการทำงานฟรี เพื่อให้ได้ประสบการณ์ หรือได้งาน ได้ profile ดีๆ นั่นเอง
ระยะเวลาการศึกษา
รูปที่ 5 แสดงถึงความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับระยะเวลาการศึกษา
เราจะเห็นในรูปที่ 5 ว่านักศึกษาส่วนใหญ่คิดว่าการศึกษาสถาปัตยกรรมมันยาวนานเกินไป บางคนอาจจะงง ว่า เฮ้ย! ป.ตรีสถาปัตย์ที่ UK เรียนแค่ 3 ปีเองนะ! ยังจะบอกว่ายาวอีกหรอ!
สถาปัตย์ป.ตรีที่นี่เรียน 3 ปีจริงๆครับ แต่อารมณ์และโครงสร้างมันไม่เหมือนกับที่ไทย คืออย่างที่ไทยเราเรียน 5 ปี จบมาก็สอบใบประกอบวิชาชีพได้ แต่ของที่ UK จบป.ตรี เค้าเรียก PartI จบโทเรียก PartII แล้วก็ทำงานอีกสองปี มาสอบ ถ้าผ่านก็ได้จะได้ PartIII แล้วถึงจะเป็นสถาปนิกมีใบประกอบวิชาชีพแบบที่ไทยจบป.ตรี สรุปรวมๆแล้วก็ประมาณ 7 ปีครับ
อารมณ์ของนักศึกษาสถาปัตย์ที่นี่ ก็คือรู้อยู่แล้วว่า ถ้าอยากเป็นสถาปนิก ที่แบบว่า มีใบประกอบวิชาชีพ ก็จะเป็นจะต้องจบโทเป็นอย่างน้อยนั่นเอง โดยส่วนมากเวลาสมัครเรียนป.ตรี เค้าก็จะควบป.โทไปด้วยเลย เพราะยังไงก็ต้องเรียนอยู่แล้ว ถ้าอยากเป็นสถาปนิก
ฉะนั้น ที่เค้าบอกว่ามันนานเกินไป นั่นก็คือกระบวนการทั้งหมดนี่แหละครับ 7 ปี โดยใน 7 ปีมีทำงานประมาณ 2-3 ปี ไม่ได้เรียนอย่างเดียว
อื่นๆ
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจก็อย่างเช่น การที่มหาลัยได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการทำงานจริงให้กับนักศึกษาแค่ไหน อย่างที่เราเห็นได้จากรูปที่ 6 ที่ถามนักศึกษาว่าความรู้จากเรื่องพวกการก่อสร้าง เรื่องธุรกิจต่างๆถูกสอนอย่างเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น
รูปที่ 6 แสดงความคิดเห็นของนักศึกษาในเรื่องการที่คณะได้เตรียมความพร้อมต่อการทำงานจริง
นักศึกษาส่วนมากบอกว่าจบไปแล้วยังอยากเป็นสถาปนิกอยู่
รูปที่ 7 แสดงเปอร์เซ็นของนักศึกษาที่ยังอยากเป็นสถาปนิกหลังเรียนจบ
นักศึกษาเกินครึ่งบอว่าไม่คิดเลยว่าการเรียนสถาปัตย์จะเป็นแบบนี้ (5555)
รูปที่ 8 แสดงเปอร์เซ็นของนักศึกษากว่า 56% ไม่ได้คิดว่าการศึกษาสถาปัตยกรรมจะเป็นแบบนี้
สรุป
จริงๆมันยังมีอีกหลายเรื่อง แต่ผมแนะนำว่าถ้าสนใจก็ลองไปหาตัวจริงมาอ่านดูครับ มันเยอะ
แต่ประเด็นหลักๆก็คือ เราก็จะเห็นว่า การศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ UK มันก็ไม่ได้สวยงาม ราบรื่น แบบว่าอะไรๆก็ดีไปหมดหรอกครับ มันก็มีปัญหาโน่นนี่เต็มไปหมด แต่ละที่ก็มีปัญหาในแบบของมัน เราก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าดีนะที่ AJ ช่วยทำให้เห็นปัญหาชัดขึ้น พยายามสืบสวนสอบสวนลงไปในรายละเอียด ทางคณะจะได้มีข้อมูลมาเป็นแนวทางเพื่อทำการแก้ไขและพัฒนาตัวเองด้วย
อีกอย่างคือจะเห็นว่า AJ สอบถามนักศึกษา ไม่ได้สอบถามจากคณะแต่ฝ่ายเดียว ตรงนี้ผมว่ามันสำคัญมากนะ ว่าเราคิดว่าเสียงของนักศึกษาควรค่าแก่การรับฟังไหม หรือถ้าคณะบอกว่าเป็นอย่างไรแล้วก็จบกัน