The Thinking Hand โดย Juhani Pallasmaa
Juhani Pallasmaaปรากฏการณ์วิทยาสถาปัตยกรรมหนังสือ
The Thinking Hand: Existential and Embodied Wisdom in Architecture by Juhani Pallasmaa
มือที่คิด: ภูมิปัญญาที่ดำรงและฝังอยู่ในสถาปัตยกรรม โดย Juhani Pallasmaa
อย่างแรกเลยต้องบอกว่าเป็นหนังสือที่ดี อ่านเพื่อเปิดมุมมองเปิดแนวคิด ดำดิ่งลงไปในการมองเห็นความสำคัญของร่าง (Bodily) โดยเฉพาะมือ แต่แน่นอนนี่เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของมือ ร่าง ศิลปะต่างๆ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมด้วย
รูปหนังสือ
แนะนำสักเล็กน้อย (Introduction)
ก่อนที่ผมจะเล่าถึงเนื้อหาในหนังสือ ผมคิดว่าเป็นการสมควรที่จะเล่าถึงคุณ Juhani Pallasmaa สักหน่อย คือคุณ Pallasmaa เป็นสถาปนิก และเป็นอาจารย์ด้วย เค้าเคยเป็นคณบดีและศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมที่ Helsinki University of Technology
สถาปนิกหลายๆคนอาจจะคุ้นเคยกับคุณ Pallasmaa จากหนังสือชื่อ The Eyes of the Skin: Architecture and the Senses มากกว่า ด้วยความที่เป็นหนังสือประกอบการเรียนสถาปัตยกรรมในหลายๆมหาวิทยาลัย หรืออาจเคยได้ยินชื่อมาจากคุณ Steven Holl เพราะว่าคุณ Pallasmaa และคุณ Holl ถือว่ามีความสนิทสนมกันในระดับนึงเลยทีเดียว ทั้งสองคนได้ศึกษาปรัชญาที่นำมาปรับใช้กับสถาปัตยกรรมจากทางเดียวกัน ซึ่งก็คือปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) จากทางคุณ Maurice Merleau-Ponty ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับ 'สถาปัตยกรรมเชิงปรากฏการณ์วิทยา' ('Phenomenological Architecture') คงต้องเอาไว้เล่าในครั้งหน้า ตอนนี้คงเล่าถึงแค่หนังสือเล่มนี้ก่อน
**มือ (Hand) **
มือ มื้อ มือ ดูจากปกหนังสือที่เป็นรูปมือแล้วมีดวงตาอยู่ที่ฝ่ามือ เราอาจจะคิดว่าหนังสือเล่มนี้สื่อถึงอาการ "ตาบอดคลำช้าง" หรือเปล่า? (รูปหน้าปกเป็นงานของคุณ Herbert Bayer ปี 1932) เพราะใช้มือในการมองอะไรอย่างงี้ แต่จริงๆประเด็นเรื่องมือในหนังสือเล่มนี้ได้ถูกขยายความเอาไว้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการใช้มือเพื่อการสื่อสารโดยตรงเช่นภาษามือ หรือเพื่อใช้งานบางอย่างเพื่อสื่อสาร (เช่นตอนนี้ผมกำลังใช้มือพิพม์บนแป้นพิมพ์เพื่อส่งผ่านข้อมูลให้ปรากฏตัวอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์)
อย่างเช่นสถาปนิกที่ใช้มือจับเครื่องมือบางอย่างเช่นดินสอ ปากกา เม้าส์ เพื่อทำการสื่อสิ่งที่อยู่ในสมองให้ออกมาปรากฏสู่โลกภายนอก
"The hand is the window on to the mind." (มือเป็นหน้าต่างไปสู่ความคิด) - Immanuel Kant
มือ ยังเป็นช่องทางที่มนุษย์ใช้เพื่อเรียนรู้ รับรู้ สื่อสารกับโลกด้วยเช่นกัน และการรับรู้เหล่านั้นมีการคิด (Thinking) ที่ฝังอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว (Embodied) เช่นการฝึกหัดอะไรต่างๆ การใช้มือวาด ประกอบสิ่งของ สร้างสิ่งต่างๆ แม้แต่แต่งหน้า หรือทำอะไรๆก็ตาม เราก็เรียนรู้โดยผ่านมือของเรานี้แหละ
และเมื่อเราเรียนรู้ผ่านมือของเรา เราก็ยังเผยความเป็นเราผ่านมือของเราด้วย ไม่ว่าด้วยการหยิบ จับ วาด สร้าง และแสดงออกด้วยท่าทางต่างๆ เราติดต่อสื่อสารกับโลกผ่านมือเรานี้
ร่าง (Bodily)
นอกจากมือแล้วก็ยังรวมไปถึงร่าง (Bodily) ร่างนี้ก็คือร่างกาย ร่างทั้งหมดทั้งตัวเรา รวมไปถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมเป็นร่างทั้งหมด ร่างที่เป็นตัวกลางการสื่อสารกับโลกของเรา
ประเด็นเรื่องร่างนี้เราอาจจะคุ้นมาก่อนแล้วกับแนวคิดทางปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) เช่นเรื่องของ Shintai โดย Tadao Ando ซึ่งก็มีลักษณะไปในทิศทางเดียวกันกับเรื่องของร่างตรงนี้ และเรื่องของร่างนี้แม้จะไม่ได้พูดกันโดยตรงแต่ก็แฝงอยู่ในคำที่สถาปนิกมักพูดกันบ่อยๆว่า "เสพ Space" ก็คือมีลักษณะของการที่มีรับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเราในระดับของการรับรู้ (ผัสสะ) โดยที่ไม่เน้นการคิดฟุ้งเฟ้อ (overinterpretation) จากการรับรู้พื้นที่ว่าง (Space) นั้นๆ (วิธีการใช้งานจริงตรงนี้สามารถดูได้จากวิธีที่ Peter Zumthor เขียนบันทึกในสมุดจดของเขาเวลาเขารับรู้พื้นที่ว่าง)
ในหนังสือ The Thinking Hand ยังได้อธิบายในรายละเอียดเช่นการเต้น การเล่นเครื่องดนตรี การเล่นกีฬา หรือการใช้งานพื้นที่ว่างต่างๆ ว่าล้วนเกิดจากการเรียนรู้ จนเกิดเป็นภูมิปัญญา ในขณะเดียวกันนักออกแบบ รวมไปถึงสถาปนิก ก็ออกแบบสิ่งต่างๆเพื่อมารองรับร่าง ร่างกายของมนุษย์ ตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ เช่น กลอนประตู จาน ไปจนถึงของใหญ่ๆอย่างอาคาร เมือง เป็นต้น
ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจอยู่ในบทที่ 5 หัวข้อเรื่อง Embodied Thinking
ตรงหัวข้อย่อยที่ว่า Thinking Through the Senses คุณ Pallasmaa ได้เล่าว่า:
"...architecture is a means of philosophising about the world and human existence through the embodied material act of constructing."
และ
"... architecture does not illustrate or mimic ideas of philosophy, literature, painting or any other art forms; it is a mode of thinking in its own right."
ความน่าสนใจก็คือคุณ Pallasmaa บอกว่า สถาปัตยกรรม เป็นมากกว่าเพียงแค่สิ่งที่มีอยู่เพื่อสนองสิ่งอื่น หรือแม้แต่เรื่องของการใช้งานก็ตาม (จะอธิบายตรงนี้เพิ่มในช่วงต่อไป) สถาปัตกรรมเป็นสิ่งที่สามารถสร้างโลกและความมีอยู่ของมนุษย์ในระดับปรัชญาได้โดยผ่านสิ่งที่อยู่ภายในของวัสดุและการก่อสร้าง - ซึ่งหมายความว่า สถาปัตยกรรม สร้างโลกให้กับคน คนคนหนึ่งเมื่ออยู่ในสถาปัตยกรรมใดๆ (โดยความหมายของคำว่าสถาปัตยกรรมตรงนี้กว้างกว่าอาคาร แต่รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ถูกจัดแจง ปรับเปลียนทั้งหมด) สถาปัตยกรรมให้อะไรมากกว่าเป็นแค่เพียงสิ่งของชิ้นใหญ่บางอย่างเพื่อให้เราใช้เป็นทางผ่านไปหาอะไรอื่นๆ
และในส่วนต่อมาก็คือว่าสถาปัตยกรรมมีระบบคิด วิธีคิดเป็นของตัวเอง หมายความว่าการคิดถึงสถาปัตยกรรมก็มีโหมด (mode) ของความคิดของตัวเอง ซึ่งก็คือโหมดการคิดแบบสถาปัตยกรรม - ประเด็นตรงนี้คือการตระหนักถึงความรู้ทางสถาปัตยกรรม (Wisdom in Architecture)
ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดๆ เช่นเรานึกถึงสถาปัตยกรรมด้วยความเป็นสถาปัตยกรรม ที่เป็นสิ่งที่มีอยู่บนโลกในแบบ 3มิติ แบบที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ทั้งด้วยตา หู จมูก ลิ้น และร่างกาย หรือเรานึกถึงสถาปัตยกรรมในแบบ 2มิติ ที่เป็นแบบรูปภาพนิ่งๆ ผมยกตัวอย่างเช่น เรานึกถึงสถาปัตยกรรมแบบสถาปัตยกรรม หรือแบบภาพถ่าย เรานึกถึงสถาปัตยกรรมโดยให้สาระอยู่ที่ภาพนิ่ง 2มิติ ที่มีความสวยงาม ไม่มีคนอยู่ในภาพ รูปด้านที่ตรง อาจจะถ่ายตอนใกล้มืด ท้องฟ้าสวยๆ เปิดไฟครบทุกดวง หรือนึกถึงสถาปัตยกรรมที่เคลื่อนผ่านกาลเวลาตั้งแต่เช้าจรดเย็น ผ่านฤดูต่างๆ เป็นต้น - นี่คือลักษณะของการรับรู้โหมดในการคิดที่แตกต่างกันของโหมดคิดแบบสถาปัตยกรรม และแบบถ่ายภาพ
Note: จริงๆแนวคิดนี้ไม่ได้ใหม่มาก ถ้านึกถึงหนังสือ Toward an Architecture ของคุณ Le Corbusier จะจำได้ว่าคุณ Le Corbusier ได้พยายามชี้ให้เห็นพื้นที่ของศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมว่าควรอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการก่อสร้างหรือวิศวกรรมใดๆ แต่เป็นไปเพื่อสถาปัตยกรรมในตัวของมันเอง ดั่งเช่นที่คุณ Le Corbusier บอกเอาไว้ว่า:
"ARCHITECTURE is an artistic fact, an emotional phenomenon that is outside questions of construction, beyond them. Construction: THAT'S FOR MAKING THINGS HOLD TOGETHER; Architecture: THAT'S FOR STIRRING EMOTION."
โดยที่ Le Corbusier ยังได้อธิบายถึง 'อารมณ์ทางสถาปัตยกรรม' ('Architectural emotion') ต่อไปอีกว่า "...that's when the work resounds inside us in turn with a universe whose laws we are..." ซึ่งหมายถึงอารมณ์ที่มันก้องกังวานในใจของเรานั่นเอง
ในหัวข้อย่อยต่อมาในบทที่ 5 ชื่อหัวข้อว่า Embodied Memory and Thought
คุณ Pallasmaa ได้เล่าถึงความสำคัญของการศึกษาทางสถาปัตยกรรมผ่านร่าง เพราะว่าใจ จิตใจ สมอง (mind) นั้นไม่มีความสามารถที่จะเสพ หรือรับรู้ สถาปัตยกรรมได้โดยตรง และอาคารก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงไม่ใช่อะไรที่เป็นนามธรรมจึงจำเป็นจะต้องทำการรับรู้ผ่านร่าง ดังที่บอกเอาไว้ว่า:
"Buildings are not abstract, meaningless constructions, or aesthetic compositions, they are extensions and shelters of our bodies, memories, identities and minds."
หมายความว่า "อาคารต่างๆไม่ใช่สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่มาประกอบสร้างกันอย่างไร้ความหมาย หรือเป็นเพียงการจัดองค์ประกอบทางความงามเท่านั้น อาคารต่างๆคือส่วนต่อเติมที่ออกไปและเป็นที่พักพิง ของร่างกายเรา ของความทรงจำ ความเป็นตัวตนของเรา และจิตใจของเรา" - ตรงนี้จะเห็นได้ว่าการรับรู้สถาปัตยกรรมนั้นจำเป็นที่จะต้องไปอยู่ที่สถาปัตยกรรมนั้นจริงๆ หรือถ้าพูดอีกทาง ก็คือว่า การรับรู้สถาปัตยกรรมใดๆ ไม่อาจทำได้โดยเพียงมองภาพ ได้ฟัง หรืออะไรก็ตาม แต่จำเป็นจะต้องพาร่างกายของเราไปรับรู้สิ่งนั้นๆโดยตรง
และเมื่อร่างเราอยู่ที่ใด สิ่งรอบตัวของเรานั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของเราด้วย (ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ The Poetics of Space ของ Gaston Bachelard ตรงที่บอกว่า "I am the space where I am.")
มากกว่าการใช้งาน (Function)
จากที่บอกไว้ข้างบนว่าสถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องของการใช้งาน ตรงนี้ Tadao Ando ได้ถูกเล่าถึงในบทที่ 8 Theory and Life ในหัวข้อย่อยชื่อ Opposition of Theory and Making คุณ Pallasmaa ได้อ้างถึงคำพูดของคุณ Ando เอาไว้ว่า:
"I believe in removing architecture from function after ensuring the observation of functional basis. In other words, I like to see how far architecture can pursue function and then, after the pursuit has been made, to see how far architecture can be removed from function. The significance of architecture is found in the distance between it and function."
ในหัวข้อย่อนนี้ประเด็นอยู่ที่แนวคิดและการสร้างงานจริง แต่ผมอยากชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่คุณ Ando บอกเอาไว้อีกสักหน่อย ว่าสถาปัตยกรรมนั้นไม่ได้มีอยู่ที่ตรงการใช้งาน ไม่ได้อยู่ตรง Function แต่ความเป็นสถาปัตยกรรมนั้นอยู่ไกลออกไปอีก โดยความหมายที่แต่ละคนจะรับรู้ได้นั้น อยู่ระหว่างการใช้งานและตัวสถาปัตยกรรมเอง
ให้ชัดๆก็คือว่า สถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่ทำมาเพื่อรองรับการใช้งานเท่านั้นนั่นเอง (ซึ่งอีกแล้ว กลับไปที่ Le Corbusier ก็เคยบอกเอาไว้ว่าสถาปัตยกรรมมันเป็นเรื่องของความรู้สึก สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างใน)
หนังสือเล่มนี้ยังมีส่วนที่น่าสนใจอีกหลายส่วนที่ผมไม่ได้เขียนถึง แต่ก็คิดว่าเหมาะสมที่จะอ่านถ้าหากสนใจทางนี้
สรุป 7.5/10 ดีมาก ควรอ่าน
เป็นหนังสือที่อ่านง่าย ไม่หนัก ภาษาไม่ยาก รูปเยอะพองาม แต่ที่ผมรู้สึกว่าเป็นข้อด้อย (และอาจจะเป็นข้อดีสำหรับบางคนในเวลาเดียวกัน) ก็คือการอธิบายในภาพกว้างๆ กว้างๆหมายถึงกว้างๆ เช่นอธิบายเรื่องวัฒนธรรม การสร้างของ เป็นต้น คือเนื้อหาย่อมเป็นประโยชน์ต่อสถาปนิกอยู่แล้ว เพราะถ้ารู้ไว้ก็ย่อมดี แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะหนังสือยังรองรับการอ่านโดยคนทั่วๆไปด้วย ไม่ได้เจาะจงเฉพาะสถาปนิก ฉะนั้นเนื้อหาจึงกว้าง และค่อยๆอธิบายอย่างเนิบๆ แต่ลึกซึ้ง
รวมๆก็คืออ่านง่าย อ่านเบาๆ ได้สาระ เน้นให้คิด เปิดมุมมอง และผมแนะนำว่าควรอ่าน The Eyes of The Skin ด้วย จริงๆถ้าให้เลือกระหว่างสองเล่มนี้ ผมแนะนำ The Eyes of The Skin นะ นอกจากว่าอยากอ่านอะไรที่เจาะจงเรื่องมือจริงๆ
สุดท้ายนี้ผมขอใช้มือของผมพิมพ์บนแป้นพิมพ์ว่า "ลาก่อน แล้วพบกันใหม่" นะครับ :D