The Language of Space โดย Bryan Lawson
Bryan Lawsonสถาปัตยกรรมสัญวิทยาหนังสือ
The Language of Space by Bryan Lawson หรือ ภาษาของพื้นที่ว่าง โดย Bryan Lawson พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2001 ก็ราว 14 ปีได้ละ คนเขียนเรียนจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วก็เรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกด้านจิตวิทยา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตย์ที่ Sheffield, UK
หนังสือเล่มนี้มันมีดีในตัวของมัน (เหมือนทุกๆอย่าง) ผู้เขียนระบุไว้ชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนเพื่อหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือคนที่เรียนด้านสถาปัตยกรรมมาแล้วสนใจด้านจิตวิทยาแบบเขา
"... this book represents an attempt to help others who may wish to follow a similar path."
ฉะนั้นเนื้อหาอาจจะไม่สาแก่ใจสำหรับคนที่ต้องการอะไรที่มัน "สถาปัตยกรรม" มากๆ ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อ่านละเอียดมาก เพราะไม่อินกับเนื้อหามากนัก และก็อย่างที่ผู้เขียนบอกว่าเนื้อหาในหนังสือก็เป็นเรื่องที่สถาปนิกเราๆรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่มักลืม หรือไม่เห็นความสำคัญของมันเท่าที่ควรเท่านั้นเอง
ภาพรวมกว้างๆของหนังสือเล่มนี้แสดงอยู่ในบทที่ 1 Space as Language (พื้นที่ว่างแบบที่เป็นภาษา) ซึ่งจะเป็นส่วนที่ผมจะใช้เพื่อเล่าถึงหนังสือเล่มนี้เป็นหลัก และมีบางจุดในบทต่อๆไปของหนังสือที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่จะเล่าให้ฟัง แต่อย่างแรกเลยผมอยากเล่าถึงผู้เขียนสักนิด เพื่อให้รู้ว่าผู้เขียนไม่ใช่คนไม่มีชื่อ (no name) และเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้อ่านในประสบการณ์ของเขาได้ เพราะเนื้อหามันจะออกแนวประมาณว่า "คนเค้าคิดงี้กันจริงหรอว้าาาา˜˜˜˜˜˜˜˜˜˜˜"
รูปหนังสือ
สักนิดเกี่ยวกับผู้เขียน
ศาสตราจารย์ Bryan Lawson Dip Arch (dist) (Oxford), Msc (dist), PhD (Aston), RIBA, Registered Architect
ศ. Bryan Lawson มาอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัย Sheffield เมื่อปี 1974 ซึ่งก่อนหน้านั้นสอนที่ Birmingham School of Architecture, Aston University และที่ Central St. Martins College of Art and Design
ที่ Sheffield เขาเคยเป็น Head of School และเป็นคณบดี (Dean) เขาสอนวิชาทฤษฎีสถาปัตยกรรม (Architectural Theory) และวิชา Studio
เขายังเป็น Visiting Professor (ศาสตราจารย์รับเชิญ) ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ซิดนีย์ และที่มาเลเซีย
ศ. Bryan Lawson จบตรีด้านสถาปัตยกรรมมาแล้วก็มาต่อโทกับเอกด้านจิตวิทยา ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากเค้าพบว่า การศึกษาด้านสถาปัตยกรรมในระดับปริญญาตรีที่เค้าได้รับจาก Oxford นั้น เน้นไปที่การมองอาคารว่าเป็นวัตถุทางกายภาพ (Physical Object) โดยที่หลักๆแล้วก็คือเป็นเพียงวัตถุเพื่อเพื่อการมอง (Visual Object) โดยที่ตัว Bryan Lawson เอง ในขณะนั้น สนใจที่จะมองอาคารในแบบที่เป็นวัตถุทางสังคม (Social Object) มากกว่า
"I found my education at Oxford focused entirely on buildings as physical objects. Mainly they were thought of as visual objects in a very abstract sort of way, with some occasional minor consideration of them as technical constructions."
ถ้าคนอ่านไม่ได้เป็นคนที่มีแนวคิดคล้ายๆ หรือสอดคล้อง หรือเป็นไปในทางเดียวกันกับคนเขียน ก็อาจจะรู้สึกน่าเบื่อได้กับมุมมองของเขา เช่น ถ้าใครชอบดูรูปอาคารสวยๆเพื่อเรียนรู้สถาปัตยกรรม ก็อาจจะไม่ชอบวิธีเรียนรู้แบบที่เขากำลังนำเสนอ แต่ก็อาจจะเป็นการดี ที่จะเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป เพราะว่าตัว Bryan Lawson เองก็มีวิธีการเรียนรู้สถาปัตยกรรมจากการสังเกต การเฝ้าดูอาคารที่ถูกใช้งานจริงมากกว่าดูรูปสวยๆในหนังสือ
"I learned about architecture no through the glossy pictures in books, but by actually observing buildings being used."
ผมคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนที่สนใจหนังสือเล่มนี้ เพื่อจะได้รู้ถึงจุดยืนของหนังสือเล่มนี้นั่นเอง
Buildings as Social Objects (อาคารในแบบที่เป็นวัตถุทางสังคม)
มุมมองที่คนเรามีต่ออาคารนั้นสามารถเป็นไปได้หลายอย่าง บางคนมองในเชิงของเงิน ความคุ้มทุน ราคา บางคนมองในเชิงการใช้งาน บางคนมองในเชิงความงาม เป็นงานศิลป์ และอื่นๆอีกมากมาย สำหรับหนังสือเล่มนี้ มุมมองที่มีต่ออาคารคืออาคารในลักษณะของการเป็นสิ่งห่อหุ้ม เพื่อให้บางอย่างอยู่อาศัย เพื่อแยก เพื่อจัดการ เพื่อรองรับ เพื่อทำให้ชัด และเพื่อเชื้อเชิญให้เกิดการใช้งานพื้นที่ว่างของมนุษย์
ลักษณะการมองอาคารแบบนี้ก็คือมองว่าอาคารมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนและสังคม เช่นการการสร้างโครงสร้างบางอย่าง แม้แต่เรื่องชนชั้นทางสังคม ความนอบน้อม ความเชื่อฟัง ความมีระเบียบในสังคม ล้วนสามารถถูกส่งเสริมได้ด้วยสถาปัตยกรรม ตรงไหนนั่งได้ ยืนได้ เดินได้ วิ่งได้ นอนได้ ทิ้งขยะได้ ล้วนสามารถถูกเอื้ออำนวยด้วยการออกแบบ
ที่ผมใช้คำว่าเอื้ออำนวยเพราะว่าลักษณะของอาคารที่เป็นวัตถุทางสังคมนั้นไม่ใช่อะไรที่จะกำหนดสิ่งต่างๆในสังคมได้อย่างหมดจด (เหมือนกับทุกๆอย่าง) ซึ่งตรงนี้สัมพันธ์กับเรื่องของ "ภาษา" ซึ่งก็หมายความว่า สถาปนิกออกแบบอะไรมา ไม่จำเป็นว่าผู้ใช้งานจะต้องทำตามแบบนั้นทั้งหมด แต่ต้องเป็นการต่อรองกันทั้ง 2 ทางนั่นเอง โดยสื่อกลางนี้ก็คือภาษาที่จะสื่อสารกับผู้ใช้งานว่าควรปฏิบัติอยางไรเมื่ออยู่ในพื้นที่ว่างใดๆ
The Language of Space (ภาษาของพื้นที่ว่าง)
เหมือนดั่งที่ทุกคนกำลังอ่านบทความที่ผมพิมพ์อยู่นี้ผ่านทาง computer หรือาจจะผ่านทางมือถือ หรือ tablet ก็ตาม มันมีลักษณะของเส้นที่ขดไปมาในลักษณะต่างๆหลายๆเส้นต่อๆกัน จนมันเกิดความหมายต่อผู้อ่านได้ พื้นที่ว่างก็เช่นกัน เวลาเราเข้าไปในพื้นที่ว่างต่างๆ บางทีเราก็อ่านออก บางทีเราก็อ่านไม่ค่อยออก เพราะบางทีมันเป็นภาษาต่างดาว หรืออาคารนั้นๆสอบตกในเรื่องการสื่อสารกับผู้ใช้งานก็มี แต่ประเด็นก็คือ มันคือภาษา ที่สื่อสารกับทุกๆคน
Bryan Lawson บอกว่าด้วยความที่มันเป็นภาษาที่เราไม่ได้ยิน หรือเห็นโดยตรง และไม่ได้ถูกเขียน จึงไม่ค่อยถูกได้รับความสนใจในแบบทั่วๆไปเท่าไหร่ แต่เราจะรู้สึกได้ถึงตัวภาษานี้ก็ต่อเมื่อมันถูกละเมิด เช่น ผมคิดว่าถ้าคุณเคยขึ้นรถไฟฟ้า BTS ช่วงเช้าหรือช่วงเย็นๆ มันจะมีเสมอ คนที่แซงแถว ผมนี่เจอแทบทุกวันที่พญาไท คือมันจะมีแถวอยู่แล้ว แล้วคนก็ต่อแถวกัน แต่มันจะมีคนเพิ่มแถวเอง เป็นแถวที่สอง คนที่มาใหม่ก็อาจจะสามารถเนียนไปต่อแถวที่ 2 ได้เลย และอาจมีโอกาสได้ขึ้นรถคันถัดไปก่อนคนที่มาต่อแถวอยู่ก่อหน้าก็ได้
หรือช่วงก่อนที่ผมเห็นคนแชร์ใน Facebook เพจอะไรนะ ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน ประมาณนั้นนะ รูปเด็กในร้านอาหาร MK สักที่ ปีนโต๊ะ ปีนไปตรงที่เขาไม่ได้ไว้ให้ปีน ไม่นั่งดีๆเหมือนผู้ใหญ่
เห็นไหมครับ ว่าพื้นที่โล่งๆตรงที่รอรถ BTS คนทั่วๆไปก็สามารถอ่านออกว่าตรงไหนควรยืนรอ และยืนแบบไหน แต่บางคนก็อาจจะอ่านออก หรืออ่านไม่ออก หรือจริงๆผู้ออกแแบบก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ว่าคนจะอ่านว่าอะไร เพราะมีความลึกแคบๆของชานชาลาที่คนก็จะมาต่อกันยาวๆก็คงทำไม่ได้ เพราะมันแคบ ก็ตามมีตามเกินไปละกันนะ หรือที่นั่งที่ MK ก็ออกแบบมาโดยเอื้อให้เกิด เชื้อเชิญ ให้เด็กมันปีนเล่น หรือเปล่า? จริงๆความตั้งใจของสถาปนิกคืออะไรไม่ค่อยเน้นเท่าไหร่ แต่ประเด็นคือพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นมันบอกอะไรคนมากกว่า
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเอง เราจะเห็นว่าบางคนก็มีพฤติกรรมไปในแบบที่ต่างออกไป ก็คือไปเพิ่มแถวใหม่ แทนที่จะต่อแถวแบบคนอื่น หรือเด็กๆที่ยังไม่ได้พัฒนาการเรียนรู้ภาษาของพื้นที่ว่างมามากเหมือนผู้ใหญ่ ที่จะรู้ว่าตรงไหนนั่ง ตรงไหนปีน ตรงไหนเล่น
แต่จริงๆแล้วประเด็นนี้ไม่ได้แค่เด็กหรือผู้ใหญ่นะครับ มันก็เหมือนคนอ่านภาษาอังกฤษออก กับอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก บางทีมันเห็นพื้นที่ว่างแล้วไม่เข้าใจก็มี เช่นเวลาเราไปอาคารบางที่ แล้วเราไม่ค่อยมั่นใจว่าเราสมควรถอดรองเท้าหรือไม่ เราเข้าไปในร้านอาหารแล้วควรยืนรอพนักงานมารับไปโต๊ะหรือเดินไปโต๊ะเลยหรือเปล่า เป็นต้น
แต่ประเด็นตรงนี้ก็คือว่า พื้นที่ว่างมันเป็นภาษา ที่ถูกอ่านได้ และทำความเข้าใจได้ บางคนอาจจะบอกว่า เอ้ย นี่มันเรียกว่าวัฒนธรรม หรือการอบรมสั่งสอน หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ในจุดนี้มันก็มีความหมายถึงการสอนให้รู้จักกับภาษาและความหมายเมื่อเจอพื้นที่ว่างใดๆ
บางคนอาจจะโต้แย้งว่ามันเป็นเรื่องของมารยาท ถ้าคนมีมารยาทไม่ว่าอยู่บนพื้นที่ว่างแบบใดก็ย่อมสามารถทำตาม ปฏิบัติตามได้อย่างดี ซึ่งก็ไม่จริงเสียทีเดียวครับ เพราะว่าคนกับพื้นที่ว่างมีความสัมพันธ์กันเป็นเนื้อเดียว แปลว่าโครงสร้างของพื้นที่ว่างมันมีอยู่ที่อะไรให้ทำได้ทำไม่ได้ แปลว่ามันไม่ใช่ว่ามีมารยาทแล้วอยู่ที่ไหนก็จะมีมารยาท แต่ต้องดูว่าพื้นที่ว่างนั้นเอื้ออำนวยให้เกิดมารยาทนั้นได้หรือเปล่าด้วยนะครับ
Behavioral Setting (การจัดการพฤติกรรม)
จากหัวข้อก่อนหน้านี้เราน่าจะพอเห็นลางๆแล้วว่าพื้นที่ว่าง หรือสถาปัตยกรรม นั้นสามารถที่จะส่งเสริม กำหนด ควบคุม พฤติกรรมบางอย่างของคนได้ แต่ในตรงนี้ผมอยากชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งที่อยู่ในหนังสือ คือการชี้ให้เห็นถึงการที่คนกลุ่มเดิม แต่อยู่คนละพื้นที่ว่าง สามารถทำให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่างกันได้ เช่นในรูปที่ 1 จะเห็นว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้เมื่อตอนเช้านั้นประชุมกันอยู่โดยมี 2 คนมาขายของให้กับบริษัทนี้ คุยกันไปสักพักก็เกือบเที่ยงทางคนของบริษัทก็ชวนทานข้าวเที่ยง คนขายของก็บอกว่าจะอยู่ทานอาหารด้วย คนของบริษัทถามว่าทานที่ร้านอะไรดี ร้านอาหารหรือผับ คนขายของก็บอกว่าผับ
รูปที่ 1 แสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามลักษณะพื้นที่ว่างที่เปลี่ยนไป
เนื้อหาการพูดคุยเปลี่ยนจากเรื่องของสินค้าและราคาต่างๆมาเป็นเรื่องของฟุตบอล ครอบครัว และเรื่องต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ คู่สนทนาเริ่มมีความสนิทสนมกันมากขึ้น ซึ่งเรื่องในหนังสืนตอนนี้ก็จบลงโดยการตกลงทางธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดีหลังจากที่กลับมาประชุมต่อในภายหลัง
ประเด็นตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่ตกลงซื้อ-ขายกันได้ดีหรือไม่ แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่แตกต่างกัน สามารถที่จะเอื้อให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่างกันได้นั่นเอง
Form follows Function' / 'Function follows Form' ('รูปแบบตามการใช้งาน' / 'การใช้งานตามรูปแบบ')
Bryan Lawson ได้เล่าถึงปัญหาทางวิธีคิดของสถาปนิกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของ 'Form follows Function' โดยจริงๆเรื่องแนวๆนี้ได้ถูกชี้ให้เห็นตั้งแต่ช่วงต้นๆของหนังสือแล้ว ก็คือว่า สถาปนิก มีการให้คุณค่ากับอาคารต่างไปจากคนอื่นๆในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะมันเป็นผลจากการศึกษาด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในเรื่องของแนวคิดว่า 'Form follows Function' นั้น Bryan ได้บอกว่าปัญหามันอยู่ตรงที่ "สถาปนิกไม่ได้เข้าใจ function ได้ดีเหมือนที่คิดว่าสถาปนิกเข้าใจ"
"The problem is that we do not really understand functions as well as we think we do."
และปัญหาอีกอย่างก็คือ function ต่างๆเปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางครั้งสังคมเปลี่ยน หรือมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา การใช้งานก็เปลี่ยนไป
สถาปนิกมักออกแบบพื้นที่ว่างประหนึ่งว่าการใช้งานนั้นจะไม่เปลี่ยนไปเลย แต่ในความเป็นจริงผู้ใช้งานอาคารต่างพยายามที่จะยัด function เข้าไปใน form นั้นๆเสมอและในบางคร้้ง สถาปนิกจัด function ภายใน space ได้สร้างสรรค์น้อยกว่าผู้อยู่อาศัยเสียอีก!!
"The architects showed themselves to be generally less creative and imaginative than the residents, and more conventional in the way they laid out the furniture."
อื่นๆ
เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเป็นไปในลักษณะของการชี้ให้เห็นมุมต่างๆในพื้นที่ว่าง ในสถาปัตยกรรม มากกว่าที่จะบอกว่าควรจะทำยังไง ควรจะออกแบบยังไง ประมาณว่าเป็นหนังสือที่ให้อุปกรณ์มา ส่วนผู้อ่านจะเอาไปใช้งานยังไงก็สุดแล้วแต่ความต้องการ หรือความตั้งใจครับ
เนื้อหามีมากกว่านี้นะ ผมแค่ยกมาให้ดูว่ามันจะแนวๆไหน มันเยอะกว่านี้มากจริงๆ
สรุป 7/10 เปิดมุมมองดี
ต้องขอบอกก่อนว่าผมไม่ได้สนใจเนื้อหาในหนังสือมาก อ่านข้ามๆ อาจจะเพราะผมเห็นว่า (สำหรับผม) ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ คือมันก็น่าสนใจนะ แต่ไม่น่าสนใจมาก สำหรับผมในตอนนี้ แต่ผมคิดว่ามันเหมาะนะ สำหรับคนที่สนใจด้านนี้ เกี่ยวกับคน เกี่ยวกับพฤติกรรม เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม โดยผมจะทิ้งหัวข้อทั้ง 9 บทไว้ตอนท้าย เพื่อจะได้ทราบว่าในหนังสือมีหัวข้ออะไรบ้างนะครับ
- Space as Language
- Space and the human dimension
- Mechanisms of perceiving space
- Ways of perceiving space
- Space and distance
- Proxemics
- The territory
- Space and time
- Recording space
ก็ประมาณนี้ละนะครับ The Language of Space โดย Bryan Lawson ถ้าอยากรูปเพิ่มเติมตรงไหนเป็นพิเศษก็สามารถคอมเม้นได้เลยนะครับ :D