maipatana.me

สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙

ชาตรี ประกิตนนทการสถาปัตยกรรมสังคมสัญวิทยาหนังสือ

วันก่อนผมนัดเจอเพื่อนที่ร้านกาแฟตรงคิโนะคุนิยะสาขาสยามพารากอน ผมก็เลยเดินดูหนังสือเล่นๆในร้านคิโนะ เดินไปเรื่อย เดินไปโซนหนังสือภาษาไทย ผ่านตรงที่เป็นชั้นวางพวกหนังสือเกี่ยวกับสังคม ก็เห็นพวกหนังสือ "Max Weber วิธีแห่งการบำเพ็ญตบะและอาชีพการเมือง" เขียนโดย คุณธเนศ วงศ์ยานนาวา เห็นหนังสือ "โฉมหน้าศักดินาไทย" ของ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ เห็นหนังสือ "Postmodern" โดย คุณไชยันต์ ไชยพร เดินผ่านมาอีกนิดก็เจอหนังสือชื่อ "สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙" โดย คุณชาตรี ประกิตนนทการ

สถาปัตยกรรมไทยชาตรี

รูปหนังสือสถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙

ผมก็เอ... ทำไมหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมมาอยู่ตรงนี้นะ คนเขียนคนนี้เป็นใครนะ ผมก็ไม่รู้จัก (จริงๆผมก็ไม่ค่อยรู้จักใครทั้งนั้นแหละ) แต่คือว่า ก่อนหน้านี้สักหลายๆเดือนผมมีความรู้สึกสนใจสถาปัตยกรรมในประเทศไทยอยู่นิดหน่อยอยู่แล้ว เพราะบอกตรงๆว่าผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย หรือสถาปัตยกรรมในประเทศไทยเลย จึงมีความคิดอยู่สักระยะแล้วว่าอยากศึกษาสถาปัตยกรรมไทย หรือสถาปัตยกรรมในประเทศไทยบ้าง จำได้ว่าสมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาลัยรังสิต เรียนวิชาสถาปัตยกรรมไทยกับอาจารย์ตุ๊ก ก็ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่ ยังจำได้เลยว่าตอนที่ต้องไปหมู่บ้านอะไรไม่รู้เพื่อเก็บข้อมูลแล้วเอามานำเสนอ ผมนี่แทบจะไม่ได้ช่วยเพื่อนทำอะไรเลย (เปิดโอกาสให้เพื่อนที่สนใจได้ทำงานอย่างเต็มที่)

แต่ก็ไม่เป็นไร ตอนนั้นไม่สนใจแต่ตอนนี้เริ่มมีความสนใจขึ้นมาบ้าง ผมจึงหยิบมาเปิดดูคร่าวๆเพื่อดูว่าเป็นหนังสือแบบไหนกัน เพราะถ้าเป็นหนังสือที่มีแต่รูปภาพผมคงไม่ค่อยอยากซื้อมาเท่าไหร่นัก แม้ว่าตอนสมัยเรียนปริญญาตรีจะชอบซื้อหนังสือที่มีรูปภาพอาคารสวยๆมาดูแล้วก็ "อู้ว~~~" "ว้าว~~~" กับภาพสวยๆ แต่ช่วงนี้อยู่ในอารมณ์ที่อยากอ่านหนังสือที่มีคำอธิบายด้วย เพราะว่าจะได้เข้าใจอะไรๆมากขึ้น 

เปิดดูแบบคร่าวๆก็พบว่า เออ ตัวหนังสือเต็มเลย มีรูปประกอบบ้าง ดูแล้วน่าจะโอเค เห็นมีอะไรเกี่ยวกับโรงแรม โรงพยาบาลด้วย น่าสนใจๆ ก็ซื้อกลับบ้านไปด้วยราคา 450 บาท คิดว่าไม่แพงนะ ยังไม่ถึง £10 เลย (555) พอเอากลับไปบ้านอย่างแรกที่ทำคือเอาห่อปกพลาสติกออก เพราะผมคิดว่ากระดาษที่หนังสือเค้าทำปกมาเค้าน่าจะอยากให้ผู้อ่านสัมผัสกับปกนะ คงไม่ได้อยากให้เราถือหนังสือโดยสัมผัสกับพลาสติก (อันนี้คิดเอง)

ใช้เวลาหลายวันเหมือนกันกว่าจะอ่านจบ เพราะมีธุระต้องทำโน่นทำนี่ด้วยช่วงนั้น แต่พออ่านไปได้สักพัก ก็มีความคิดว่าเราควรจะเขียน blog ถึงหนังสือเล่มนี้สักหน่อย จะเขียนลง Facebook ก็น่าเสียดาย เพราะมันก็คงจะจมหายไปใน Wall ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของโพสนี้

เอาละ ผมว่าเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ผมจะเล่าถึงว่าผมคิดยังไงกับหลายๆอย่างของหนังสือเล่มนี้ โดยที่ผมควรต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม หรือหนังสือสถาปัตยกรรม หรือเรื่องอะไรๆทั้งนั้น ฉะนั้นสิ่งที่ผมกำลังจะพิมพ์นั้นเป็นความคิดเห็นจากมุมมองของผมที่ไม่สมควรถือเป็นจริงเป็นจัง ควรถือเป็นเพียงเรื่องที่ผม เล่า เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เท่านั้น 


สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร ๑๘ กันยา ๔๙

เบื้องต้น

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มาจากการรวมเล่มของบทความในวารสาร_อ่าน_ ในช่วงปีพ.ศ. 2551-2556 และมีอีก 4 บทความที่มาจากที่อื่น แต่เอาเป็นว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนถึงมาพร้อมกันรวดเดียวเพื่อเป็นเนื้อเล่มเดียว แต่เป็นบทความแยกหลายๆบทความมารวมกัน

ฐานของหนังสือเล่มนี้คือการ "อ่าน" สถาปัตยกรรม ซึ่งการ "อ่าน" นี้ไม่ใช่อ่านแค่เพียงความหมายในระดับพื้นฐานเช่นการใช้งาน (Function) หรือความรู้สึกรับรู้ (Phenomenology) แต่เน้นไปที่ความหมายในระดับมายาคติ (Myth) ความหมายแฝง ความหมายระดับที่คนมักสับสนระหว่างวัฒนธรรม และธรรมชาติหรือความจริง (ในส่วนนี้ผมยืมการอธิบายมาจากหนังสือมายาคติ ของ โรล็องด์ บาร์ตส์ ที่แปลโดย คุณวรรณพิมล อังคศิริสรรพ) เรียกศาสตร์แบบนี้รวมๆว่าสัญวิทยา (Semiology) หรือศาสตร์แห่งสัญญะ

ซึ่งรายละเอียดตรงนี้อาจารย์ชาตรี (จากนี้ไปจะเรียกผู้เขียนว่าอาจารย์ชาตรี เพราะได้ทราบมาจากเพื่อนว่าเค้าเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตย์ศิลปากร) ได้เขียนอธิบายเอาไว้ค่อนข้างดีในส่วนของบทนำ อาจจะไม่ถึงกับทำให้คนอ่านเข้าใจทั้งหมด แต่ผมคิดว่าก็มากพอที่จะให้เป็นทางไปศึกษาทำความเข้าใจต่อไป 

มายาคติโรล็องด์บาร์ตส์

รูปหนังสือมายาคติ โดย โรล็องด์ บาร์ตส์

ถ้ามีเวลาสมควรอ่านเล่มนี้ด้วย น่าจะช่วยให้เข้าใจวิธีการที่อาจารย์ชาตรีใช้มากขึ้น

หรือลองแง้มๆ [แปล] Semiology and The Urban โดย โรล็องด์ บาร์ตส์ ดูครับ

การรับรู้แรก

จากการอ่านในส่วนของคำนิยม (โดย คุณชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์) และบทนำ (ยังไม่ได้เข้าเนื้อหาบทแรกเลย) ทำให้ผมได้ทราบว่าอาจารย์ชาตรีโดนโจมตีเรื่องที่แกเขียน (เริ่มเรียกอาจารย์ว่าแกละ) พอสมควร ผมก็ตกใจไปนิดนึง เพราะผมคิดว่าเรื่องของ Semiology ก็ไม่ได้ใหม่มาก นับตั้งแต่ Ferdinand de Saussure (แฟร์ดินองด์ เดอ โซซูร์) ก็น่าจะเกือบ 100 ปีได้แล้ว ถ้านับตั้งแต่ Roland Barthes (โรล็องด์ บาร์ตส์) ก็น่าจะสัก 50 ปีได้ แต่บางทีปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่วิธีการ อาจจะอยู่ที่เนื่อความที่ถูกตีความออกมา แต่ถึงอย่างไร ถ้าเนื้อความมันเป็นไปตามวิธีที่ใช้ มันก็ถือว่าถูกต้องเหมาะสมในส่วนของมันแล้ว

ซึ่งประเด็นก็คือถ้าสถาปัตยกรรมเป็นภาษา มีหลักไวยยากรณ์ มีคำ มีประโยค มันก็ย่อมสามารถถูก "อ่าน" ได้ และย่อมมีความหมายได้ การอ่าน Space อ่านพื้นที่ว่าง ก็อย่างที่บอกไว้ข้างต้น คนเราทุกคนก็ทำการอ่าน Space ตลอดเวลาอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความหมายพื้นฐานในระดับการใช้งาน เช่นตรงไหนเดินได้ นั่งได้ ยืนได้ ใช้งานอย่างไรใน Space นั้นๆ ล้วนเกิดจากการอ่านทั้งสิ้น Space หรือสถาปัตยกรรมนั้นๆย่อมมีข้อมูล ความหมายบางอย่างที่สามารถถูกอ่านได้ คนเราจึงทำความเข้าใจกับมันได้ ว่ามันใช้งานอย่างไรเป็นพื้นฐาน

ถ้าใครเคยเข้าไปในอาคาร หรือ Space ใดๆที่ไม่รู้จะทำตัวยังไง ไม่รู้จะเดินไปทางไหน จะนั่งตรงไหนได้บ้าง ก็นั่นแหละครับ อาการของการอ่านไม่ออก แต่ถ้าเราเข้าไปใน Space ใดๆ หรืออาคารใดๆ ก็สามารถรู้ได้ว่าห้องน้ำจะไปทางไหนต้องเดินไปทางไหนถึงจะเจออะไรๆ ก็นั่นแหละครับ อาการของคนอ่านออก

ประเด็นคือมันยังมีความหมายที่ลึกลงไปอีก ซึ่งในที่นี้คือความหมายแฝง ความหมายในความหมาย ซึ่งอาจจะต้องตั้งใจอ่านนิดนึง เหมือนเป็นการตีความนั่นแหละครับ ซึ่งการตีความแบบนี้จะตีความจากสิ่งที่ปรากฏ สั้นๆก็คือว่า ไม่ว่าคนจะพูดจะทำอะไร สถาปนิกออกแบบอะไร จะพูดถึงงานออกแบบนั้นยังไง มันก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ปรากฏ ความหมายที่ถูกสื่อออกมาจากสิ่งนั้นๆ ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะบางครั้งสถาปนิก/นักออกแบบ อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตนกำลังออกแบบนั้นสื่ออะไรออกมาบ้างนอกจากสิ่งที่ตัวเองตั้งใจเอาไว้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็คือว่า ผมคิดว่าใครๆก็ทำการ "อ่าน" สถาปัตยกรรมได้ และความหมาย หรือสิ่งที่รับรู้ไม่จำเป็นต้องตรงกันเหมือนกันด้วย เอาแค่ง่ายๆ บ้านหลังเดียวกัน เจ้าของบ้าน แขก คนทำงานบ้าน คนสวน ย่อมอ่านบ้านหลังนั้นๆแตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว ความหมายที่เจ้าของบ้านรับรู้ และความหมายที่แขกรับรู้ต่อบ้านเดียวกัน ย่อมไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน และยิ่งไม่จำเป็นจะต้องตรงกับที่ผู้ออกแบบคิดเอาไว้ด้วย

ฉะนั้นแล้ว ในการรับรู้แรกของผม คือ ตกใจ! ว่าอาจารย์ชาตรีโดนโจมตีด้วยหรอ ทั้งๆที่มันเป็นการตีความของอาจารย์เท่านั้นเอง

การรับรู้ที่สอง

การรับรู้ที่สองไม่ใช่อย่างที่สองที่ผมรับรู้ แต่เป็นการรับรู้เกี่ยวกับผู้เขียนหรือตัวอาจารย์ชาตรีผ่านหนังสือเล่มนี้นั่นเอง อาจจะเพราะอาจารย์เขียนแสดงความคิดเห็นของตัวเองเอาไว้หลายจุด ผมจึงรู้สึกรับรู้ถึงบางส่วนของตัวตนของอาจารย์ได้ ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์เป็นคนอ่อนนอก แต่แข็ง และ แรง ข้างใน(อาจจะแรงข้างนอกด้วยสำหรับบางคน) อาจารย์(น่าจะ)มีความรู้มาก และ(น่าจะ)รู้ขอบเขตของความรู้ตัวเอง จึงพูดอะไรๆออกไปอาจจะดูแรง แต่มันก็ย่อมจะดูแรง เพราะมันมีฐานของมันที่มั่นคงอยู่ จริงๆแล้วผมชอบหนังสือนี้มากจนต้องไปหา Facebook ของอาจารย์แล้ว Add เพื่อนไป คืออ่านๆไปแล้วแบบว่า รู้สึกอยากรู้จักคนคนนี้เลย 55 (ที่บอกว่า น่าจะ เป็นเพราะไม่ได้รู้จริงๆ รับรู้แค่ผ่านหนังสือเล่มนี้เล่มเดียว)

เนื้อหา

สิ่งที่ผมคิดหลังจากอ่านเนื้อหาทั้งหมดแล้ว ผมขอแยกเป็น 3 ส่วนคือ 1. สิ่งที่ผมชอบ 2. สิ่งที่ผมไม่ชอบ และ 3. สิ่งที่ผมอยากให้เป็น

สิ่งที่ผมชอบ

ผมชอบ ความมั่นใจในการเขียนถึงเรื่องต่างๆ ผมไม่รู้ว่าอาจารย์ชาตรีตอนเขียนได้รู้สึกเกรงใจใครบ้างไหม แต่ผมคิดว่าการเขียนแบบนี้ไม่ควรเกรงใจใคร เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะควรเกรงใจกัน และผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ในการเปิดมุมมองหนึ่งต่อหลายๆสิ่งได้อย่างดี และอะไรที่อาจารย์ไม่แน่ใจ หรือไม่รู้ หรือมีข้อจำกัดใดๆ ก็บอกออกมาอย่างชัดเจน

ผมชอบการ ความใส่ใจที่อาจารย์ชาตรีมีต่อสิ่งที่ทำการศึกษา ผมคิดว่าอันนี้ควรต้องทราบบริบทว่านี่เป็นบทความที่เขียนลงวารสาร ฉะนั้นมันไม่ใช่บทความทางวิชาการ แต่ผมคิดว่าอาจารย์ให้ความใส่ใจในรายละเอียดในระดับที่พอสมควร ไม่ได้ดีมากสุดยอด แต่ถือว่าดีมากพอในความคิดผม

ผมชอบการ ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรม อันนี้สำคัญมาก คือไม่ใช่แค่อาจารย์ชาตรีคนเดียวที่ทำแบบนี้ในโลก แต่การอ่านสถาปัตยกรรมในแง่มุมทางการเมืองแบบนี้จะทำให้คนอ่านตระหนักถึงความสำคัญ ตระหนักถึงพลังของสถาปัตยกรรมได้ โดยสถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงงานศิลปะ หรือสิ่งที่มีไว้เพื่อใช้งานเท่านั้น แต่ยังมีความสามารถในการแฝงแนวความคิดบางอย่างหรือหลายๆอย่างลงไปอีกด้วย ซึ่งค่อนข้างสำคัญมากๆที่สถาปนิกจะตระหนักถึงพลังของสถาปัตยกรรมตรงนี้

ผมชอบที่เป็น แง่มุมทางการเมือง ผมโตมาในสังคมไทยก็พอจะรับรู้บรรยากาศได้ว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่คนมักไม่ค่อยอยากคุยกันเพราะกลัวจะขัดแย้งกัน ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นไปได้หากเข้าหาประเด็นทางการเมืองด้วยอารมณ์หรือด้วยความต้องการเอาชนะ แต่หนังสือเล่มนี้อาจจะช่วยชักนำ หรือแสดงช่องทางให้คนเห็นว่า เรื่องของการเมืองมันอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด ทุกๆคนต่างก็อยู่ในสังคมทั้งนั้น และสังคมก็มีเรื่องของการปกครองทั้งสิ้น บางทีการที่คนถูกบอกหรือบอกตัวเองว่าไม่ควรคุยหรือคิดเรื่องการเมือง ก็ออกจะเป็นการไม่รู้จักมองปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งย่อมไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง (นอกเสียจากว่าไม่อยากแก้ปัญหา) และอาจจะเป็นการมอมเมาให้คนอย่ายุ่งเรื่องการเมือง เพื่อให้ผู้ปกครองปกครองสะดวกๆก็เป็นได้ (เห็นไหม ผมเริ่มคิดถึงความหมายที่แฝงอยู่ในความเชื่อเรื่องการไม่ควรคุยเรื่องการเมืองแล้ว)

ผมชอบ ความเป็นนักวิชาการของอาจารย์ชาตรี ชอบตั้งแต่หน้าแรกๆ ที่อาจารย์พยายามให้การศึกษาผู้อ่าน ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก อะไรก็ไม่สำคัญเท่าการแสดงวิธีการตั้งคำถาม การเปิดมุมมอง สอนวิธีคิดอีกแล้ว ไม่ว่าผมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ไม่ว่าผมจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม ผมก็คิดว่ามันดี

สุดท้าย ผมชอบที่อาจารย์ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อผู้อ่าน อาจารย์ไม่ได้เก็บงำจุดยืนของตัวเอง และแสร้งทำเป็นว่าไม่มีอคติใดๆ อันนี้คงจะสำคัญมากในการเป็นคน คือควรจะรู้ตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม

สิ่งที่ผมไม่ชอบ

จริงๆแล้วผมก็คิดเรื่องที่อยากจะติหรือไม่ชอบไม่ค่อยออกนะ เพราะจริงๆหนังสือมันก็ดีในแบบที่มันดีอยู่แล้ว มีวิธีคิดชัดเจน มีจุดยืนชัดเจน คือมันทำหน้าที่ที่ตัวมันเกิดขึ้นมาได้ดีพอแล้วสำหรับผม แต่คิดว่าถ้าไม่ติเลยมันจะไม่ดี ฉะนั้นมีเรื่องที่ชอบแล้วก็มีเรื่องที่ไม่ชอบบ้าง

อย่างแรก ผมไม่ค่อยชอบหนังสือในลักษณะของ บทความหลายๆบทความมาต่อกันแบบนี้ ผมชอบหนังสือที่เป็นเนื้อเดียวกันมากกว่า ซึ่งอันนี้ก็เป็นธรรมชาติของหนังสือแบบที่รวบรวมบทความมาตีพิมพ์อยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงสำหรับเล่มนี้เท่านั้น 

ผมไม่ชอบช่วงหลังที่ เนื้อหาไม่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม จริงๆช่วงแรกๆกลางๆก็มีเรื่องเกี่ยวกับธนบัตร แต่บทนั้นผมโอเค แต่บทหลังที่ไม่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมผมไม่ชอบ และอ่านข้ามๆด้วยซ้ำ คือไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะ แต่มันคงไม่ใช่สิ่งที่ผมเปิดหนังสือมาเพื่ออ่านตอนนี้เท่านั้นเอง

แต่เรื่องหลักๆที่ผมไม่ชอบ (อาจจะไม่ถึงกับไม่ชอบ แต่เห็นว่ามันน่าจะดีกว่านี้) คือการ ตีความแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) จริงๆผมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมใช้คำถูกไหม (อย่างที่บอกผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ อย่าเชื่อผมมาก) เป็นการมองความหมายที่ส่งออกมาจากสิ่งนั้นๆ โดยที่เห็นว่าความหมายของสิ่งนั้นๆที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่ปรากฏต่อคนจริงๆ เป็นการตีความในลักษณะของการมองความหมายแบบตายตัวอยู่ ซึ่งผมคิดว่าเราควรจะมองว่าผู้คนตีความมันยังไงมากกว่า คืออาจารย์ก็เขียนอธิบายนะว่าความหมายมันเปลี่ยนแปลงไปตลอด แต่ประเด็นคือนอกจากมันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดแล้ว มันยังไม่เหมือนกันด้วยสำหรับแต่ละคน หมายความว่าสิ่งที่อาจารย์ตีความ ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นสำหรับทุกๆคน คือมันอาจจะ และสามารถจริงสำหรับคนหมู่มาก (ไม่รู้ผมบอกว่าหมู่มากได้ไหมนะ) แต่ประเด็นคือความหมายมันไม่ตายตัว หยุดนิ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามันคงจะยาก และยากที่จะสามารถเขียนอธิบายแบบที่ความหมายไม่ตายตัวได้ เพราะยังไงเสียหนังสือเล่มนี้ก็เป็นงานเขียนของอาจารย์ชาตรีที่ผูกติดอยู่กับเวลาและบริบทที่อาจารย์ชาตรีตีความและมองหาความหมายในสิ่งต่างๆ แต่ผมคิดว่าน้ำหนักควรมาอยู่ที่สิ่งที่สังคมปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ มากกว่าน้ำหนักอยู่ที่สิ่งต่างๆแฝงความหมายอย่างไรเอาไว้ (ซึ่งจริงๆถ้าว่ากันตามวิธีคิดทั้งหมด ทั้งระเบียบวิธีแล้วนั้น อาจารย์ชาตรีทำได้ดีมาก ซึ่งสิ่งที่ผมเพิ่งพิมพ์ไป มันอยู่นอกเหนือจากระเบียบวิธีวิจัยของหนังสือเล่มนี้)

ต่อเนื่องจากข้อเมื่อกี้และข้อก่อนๆ ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง หรือไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดอะไรก็ตาม เนื้อความในหนังสือเล่มนี้ เกิดจากตัวบุคคลคนเดียวมากเกินไป (บางทีผมก็คิดนะ ก็หนังสืออาจารย์เขียนนี่หว่า ถ้าจะไม่ให้เป็นความเห็นอาจารย์ ก็อ่านหลายๆเล่มสิ แต่ก็นั่นแหละ ผมกำลังกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้เล่มเดียวอยู่) ผมคิดว่าความหมายควรมาจากบุคคลที่หลากหลายกว่านี้ หมายความว่า ผมคิดว่ามันจะดีกว่านี้ถ้าการตีความมาจากความเห็น หรือ Action ต่างๆจากคนในสังคมมีต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วอาจารย์ก็ทำเยอะนะ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านคอมเม้นของคน การพูดคุยกับเพื่อนๆของอาจารย์ แต่ก็นั่นแหละ ความไม่ชอบของผมผมก็เป็นความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกนี้ไม่ได้ใช้เหตุผลแบบที่ว่าเข้าไปนับจำนวนความคิดเห็นทั้งหมดว่าอันไหนมาจากคนอื่นอันไหนมาจากอาจารย์บ้าง (อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหนังสือมันไม่ดีหรือผิดพลาด แต่ผมชอบแบบนี้มากกว่า)

แต่เอาจริงๆนะ อ่านความคิดเห็นอาจารย์ก็ดี คือไม่ใช่ไม่ชอบอ่านความคิดเห็นของอาจารย์ แต่อยากอยากความคิดเห็นของคนอื่นด้วย (แล้วทำไมผมไม่ไปอ่านหนังสือของคนอื่นเพิ่มเติมฟะ! สับสนตัวเอง 55)

สิ่งที่ผมอยากให้เป็น

ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้เขียนออกมา ... (เอ๊ะ! แล้วทำไมผมไม่เขียนเองฟะ? มันโอเคไหมนะที่ผมจะไปบอกว่าผมอยากให้อะไรเป็นอะไร หรือใครทำอะไร แต่ก็เอาเถอะ เอาเป็นว่าผมอยากอ่านแบบไหนละกัน แต่บังเอิญผมอ่านเล่มนี้ไปแล้ว ถ้าผมไม่อ่านผมจะรู้หรอว่าผมอยากได้แบบไหน) ผมอยากให้หนังสือเล่มนี้เขียนออกมาโดยชี้ให้เห็นถึง ความแตกต่างกันของสิ่งที่ครอบงำความคิดหรือ Metanarratives มากกว่านี้ หมายความว่าไม่ว่าจะฝ่ายราชาชาตินิยม หรือ เสรีนิยม หรืออะไรนิยมๆก็ตาม ล้วนเป็นการพยายามสร้าง "ความจริง" บางอย่างทั้งสิ้น (หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน)

แน่นอนว่า(ผมคิดว่า)อาจารย์คงไม่ได้มีความตั้งใจแบบนั้น เพราะเท่าที่อ่านมาสามารถรับรู้ได้ถึงจุดยืนที่ชัดเจนต่อแนวคิดแบบนิยมประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และอื่นๆ แต่อย่างที่บอกว่าผมจะเขียนว่าผมคิดยังไง

ประเด็นหลักๆตรงนี้คือผมจะชอบมากกว่า ถ้าเขียนในลักษณะของการชี้ให้เห็นถึงการแย่งชิงพื้นที่ในการสร้าง ความจริงในสังคมมากกว่านี้ ซึ่งจริงๆอาจารย์ก็เขียนถึงในบางช่วง แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ชัดเจนพอให้ผู้อ่านมองเห็นตรงนั้นจริงๆ (ซึ่งอาจจะไม่ใช่จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้) 

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบราชาชาตินิยม หรือเสรีนิยม หรืออะไรๆ ก็ล้วนแต่ยืนอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่แตกต่างกัน และการวัดคุณค่า ของแต่ละความคิด หากวัดจากความคิดนั้นๆ มันก็ย่อมทำให้เห็นว่าความคิดอื่นๆนั้นด้อยกว่าทั้งสิ้น

ฉะนั้นแล้ว ความคิดที่ว่าเสรีนิยมนั้นก้าวหน้ากว่าชาตินิยม ก็ย่อมเป็นจริงต่อเมื่อใช้วิธีคิดแบบเสรีนิยมมาวัด หรือด้วยการมองเวลาแบบต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวผมไม่ได้คิดแบบนั้น ส่วนผมคิดยังไงในตรงนี้อาจจะยังไม่สำคัญนัก เอาเป็นว่าผมไม่ได้คิดอย่างนั้นละกัน

จริงๆมันก็มีส่วนเล็กๆน้อยๆอีกหลายจุดที่ผมทั้งชอบ และไม่ชอบ แต่ก็ถือว่าจุดใหญ่ๆก็ได้พิมพ์ถึงไปแล้ว

สรุป 8/10 แนะนำให้อ่านเป็นอย่างมาก

ผมคิดว่าเป็นหนังสือที่ดีค่อนข้างมาก มีคุณภาพ ดีในแบบที่มันดี ไม่จำเป็นต้องต้องเป็นสถาปนิกก็ได้ ใครอ่านก็ได้ สนุกๆ เหมาะสมกับการอ่านเพื่อเปิดโลก มองสิ่งต่างๆในมุมอื่นๆที่ปกติมองไม่เห็นเคย เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ Nottingham University บอก(ประมาณ)ว่า "Genius is the one who points out the obvious." (ประมาณนี้แหละ จำไม่ค่อยได้) ก็คือ "คนอัจฉริยะคือคนที่ชี้ให้เห็นถึงอะไรที่มันปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว (แต่เราไม่เห็นเอง)" ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์ชาตรี ก็ได้ชี้ให้คนเห็นถึงสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า ที่คนปกติทั่วๆไปอาจจะค่อยๆรับรู้มันในจิตใต้สำนึก แต่ไม่รู้ตัวนั่นเอง


ย้ำอีกครั้ง ที่เขียนๆนี่ๆอย่าไปเชื่อมาก ควรไปอ่านของจริงดีกว่า อาจจะไม่ได้คิดเหมือนผม เหมือนที่อาจารย์ชาตรีก็อาจจะไม่ได้ตีความความหมายในสถาปัตยกรรมเหมือนคนอื่นๆเช่นกัน แต่ไม่ได้แปลว่าความหมายนั้นไม่ได้มี และไม่ได้ทำงานอยู่