maipatana.me

ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม เบื้องต้น

สถาปัตยกรรมทฤษฎีปรากฏการณ์วิทยาสัญวิทยา

วันนี้มีพี่คนนึงที่รู้จักกัน เค้าเรียนปริญญาโทอยู่ที่อเมริกา พี่เค้าถามผมถึงเรื่องของ ทฤษฏีทางสถาปัตยกรรม (Architectural Theory) ถามว่ามีทฤษฏีอะไรที่เข้าใจง่ายๆบ้าง พอทราบดังนั้นผมจึงนึงถึง Richard Buckminster Fuller ขึ้นมาทันที... จริงๆแล้วผมก็นึกว่าควรจะเป็นทางสายวิทยาศาสตร์ทั้งหมด สาย Modern อะไรประมาณนี้ เพราะผมคิดว่าพวกสายศิลป์ สายทางจิตวิญญาณๆ สายที่มีความหมายในความหมาย สายที่มันไม่ใช่อะไรที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าพวกนี้ดูมันจะเข้าใจยาก เช่นพวก ปรากฏการณ์วิทยา, สัญวิทยา พวกหลังสมัยใหม่ (Postmodern) เป็นต้น

แต่จริงๆการที่พูดว่าทฤษฎีพวกนั้นพวกนี้ ผมคิดว่ามันเป็นการเหมารวมกันเกินไปนิดนึง ผมขออัญเชิญคำพูดของคุณ Mark Wigley ที่เคยเป็นคณบดี (Dean) ที่ Columbia Graduate School of Architecture, Planning and Preservation ที่ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า:

"...well...actually every architects is a theorist. People tend to think architect is somebody designs a building, makes a building. But actually architects don't make buildings. They make ideas about buildings. It doesn't actually matter if the building is built because what the...architect is kind of philosopher what the building might mean. "

ซึ่งก็คือว่า คุณ Mark Wigley นี่บอกว่าสถาปนิกทุกคนเป็นนักทฤษฎี เพราะสถาปนิกไม่ได้ออกแบบอาคารแต่เป็นคนที่คิดว่าอาคารควรจะเป็นยังไง อะไรคืออาคาร อาคารคืออะไร ออกแนวแบบว่า ปรัชญาๆ อะไรอย่างนั้นไป ซึ่งจริงๆผมก็เคยได้ยินได้อ่านอะไรอย่างงี้มาจากหลายที่นะ ว่าสถาปนิกทุกคนก็เป็นนักปรัชญาในตัวเอง แต่ผมจำไม่ได้ละว่าที่ไหนบ้าง ก็ขอยกตัวอย่างแค่ของคุณ Mark Wigley เท่านี้

ประเด็นก็คือ เวลาพูดถึง ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม ถ้าพูดถึงกลุ่มแนวคิดใดๆ มันก็รวบรวมไปด้วยสถาปนิกหลายๆคน แต่ถ้าเจาะลงไปในรายละเอียดแล้ว มันก็มีความแตกต่างกันในบางระดับ

ทีนี้ ผมคิดว่าผมคงไม่เจาะลึกลงไปในรายละเอียดของทฤษฎีใดๆทั้งนั้น และจะไม่พูดถึงทุกทฤษฎีที่มีในโลกนี้ แต่ผมจะเล่าถึงแนวทางของทฤษฎีที่น่าจะทำให้พี่ที่ปรึกษาผม รวมไปถึงผู้ที่สนใจ นำไปเป็นแนวว่าน่าจะมุ่งไปศึกษาต่อทางไหนดี

คำเตือน: ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ทุกคนควรทราบเอาไว้ก่อนว่าผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม ไม่ได้เรียนมาด้านนี้ มีอีกมากที่ผมไม่รู้ ฉะนั้นควรอ่านตาไว้ตา (เหมือนกับฟังหูไว้หู) 


ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม_basic_Architectural_Theory

ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม เบื้องต้น

ผมคิดว่าการทำความเข้าใจ ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม (Architectural Theory) เบื้องต้นนั้น ควรระลึกไว้เสมอว่าสถาปนิกแต่ละคนก็มีแนวคิดต่อสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน ฉะนั้นแล้ว เราสามารถพูดถึงทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมแบบเป็นหมวดหมู่ที่รวมสถาปนิกหลายๆคน หรือแม้แต่ทั้งยุคสมัย ไล่ไปจนระดับบุคคลเลยก็ได้ 

ผมจะขอเปิดด้วยภาพใหญ่ก่อน แต่ก็ไม่น่าจะใหญ่เกินไปนัก ก็คือการแยกทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมเป็น 2 จุดใหญ่ๆ ก็คือจุดของสถาปัตยกรรมแบบเป็นวิศวกรรม (Architecture as Engineering) และจุดของ สถาปัตยกรรมแบบเป็นศิลปะ(Architecture as Art) ซึ่งทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมก็จะมีการผสมกันของทั้งสองจุดนี้ไม่ว่าจะเป็นแบบวิศวกรรมล้วนๆ เป็นแบบศิลปะล้วนๆ หรือเริ่มที่วิศวกรรมเพื่อให้ไปถึงความเป็นศิลปะ หรือเริ่มที่ศิลปะแต่ก็ทำให้ปรากฏด้วยวิศวกรรมเป็นต้น 

ประเด็นเรื่องจุดของวิศวกรรมและ จุดของศิลปะนี้เปรียบดั่งวัตถุดิบนะครับ มันสามารถผสมออกมาเป็นอาหาร (ทฤษฎี) ได้หลากหลายด้วยการผสมสิ่งต่างๆในระดับที่แตกต่างกันนั่นเอง

อะไรคือสถาปัตยกรรมแบบเป็นวิศวกรรม? (What is Architecture as Engineering?)

คำว่าวิศวกรรมคงเป็นอะไรที่สถาปนิกเรารู้จักคุ้นเคยกันดี เพราะก็ต้องทำงานร่วมกันกับวิศวกรในด้านโครงสร้างอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่วิศวกรรมที่ผมหมายถึงตรงนี้คืออะไรที่เป็นแนวคิดในเชิงเหตุผลนิยม ความเป็นสากล เชื่อมั่นในวิทยาการ ความก้าวหน้า เชื่อในเทคโนโลยี เชื่อในตัวเลข เชื่อในสถิติ เชื่อในเครื่องจักร เชื่อในเครื่องกล เชื่อในระบบสมัยใหม่ต่างๆ

ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบเป็นวิศวกรรมก็หมายถึงสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เพื่อแสดงออกถึงความเป็นเหตุผล ความก้าวหน้า แสดงออกถึงเทคโนโลยีต่างๆ

เวลาคนแถวๆนี้คุยกันเค้ามักจะคุยกันเป็นตัวเลข เช่นออกแบบแบบไหนถึงจะได้กำไรมากๆ หรือห้องควรกว้างแค่ไหน หรือการคิดว่าเทคโนโลยีใหม่ๆคือทางออกของปัญหาต่างๆเป็นต้น

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นแม้สักเล็กน้อย ผมจะยกตัวอย่างข้อความท่อนหนึ่งที่แสดงถึงการมองว่าความรู้ทางการก่อสร้างนั้นสำคัญกว่าเรื่องของศิลปะ ความงาม คือมองว่าเรื่องสวยไม่สวยมันมาทีหลังเรื่องของวิทยาการ เรื่องของการก่อสร้าง ดั่งเช่นที่ท่าน Eugène- Emmanuel Viollet-le-Duc (อวูแชน-เอ็มมานูเอล วีโอเลต-เลอ-ดุค - ผมคิดว่าชื่อเค้าอ่านแบบนี้นะ) ได้เขียนไว้ใน Discourses on Architecture ตอนหนึ่งว่า:

"We must be true in respect of the program, and true in respect of the constructive processes.... To be true in respect of the constructive processes is to employ the materials according to their qualities and properties. What are regarded as questions purely belonging to art, symmetry, and external form are  only secondary conditions as compared with those dominant principles."

ก็คือว่าคุณ Viollet-le-Duc เนี่ย เค้าก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สนใจเรื่องความสวยงามนะ แต่เค้ามองว่ามันสำคัญน้อยกว่า (เป็น secondary conditions) เรื่องของขั้นตอนการก่อสร้างกับเรื่องของการตอบสนองต่อการใช้งานเท่านั้นเอง (เป็น dominant principles)

คุณ Viollet-le-Duc ยังบอกต่ออีกว่าความเป็นเหตุเป็นผล ตรรกะที่ถูกต้องนี่แหละ ที่จะสามารถเผยความงามออกมาได้ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกอาคารที่สร้างออกมาด้วยเหตุและผลจะสวยหมดนะ แต่ถ้าไม่มีเหตุผลเลยมันไม่สามารถออกมาได้เลยด้วยซ้ำ  

"To every work that is absolutely beautiful there will be always found to correspond a principle rigorously logical."

"ในทุกๆงานที่สวยงามอย่างหมดจด เราจะพบว่างานเหล่านั้นสอดคล้องกับหลักการที่มีหลักคิดอย่างหนักแน่นอยู่เสมอๆ"

แต่แม้ว่าคุณ Viollet-le-Duc จะถูกจัดว่าเป็นพวกสมัยใหม่นิยม (Modernism) ในยุคแรกๆ แต่คุณ Charles-Édouard Jeanneret-Gris (ออกเสียงยังไงหว่า?) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Le Corbusier ก็ได้ชื่อว่าเป็นพวก modernism เหมือนกัน มีความคิดคล้ายๆกันแต่ก็ไม่ได้คิดเหมือนกันไปเสียทั้งหมด 

ในขณะที่คุณ Viollet มองว่าสถาปนิกเป็นวิศวกร (Architect as Engineer) คุณ Le Corbusier ก็มองว่ามันแย่มากๆที่สถาปนิกจะไปคิดอย่างงั้น เพราะมันทำให้สถาปนิกทำงานสู้วิศวกรไม่ได้ และสุดท้ายก็จะไม่มีงาน สถาปนิกควรที่จะมาดูเรื่องที่ตัวเองควรจะดูเช่นการออกแบบ ไม่ควรไปสนใจเรื่องการก่อสร้างมากเกินไปนัก เห็นได้จากที่ Le Corbusier เขียนใน Aesthetic of the Engineer ว่า:

"Engineers are healthy and virile, active and useful, moral and joyful. Architects are disenchanted and idle, boastful or morose. That is because they will soon have nothing to do."

ก็คือ Le Corbusier เล่าว่าวิศวกรนี่รุ่งเรืองในยุคนั้น สถปนิกนี่เฉาเลย เพราะไม่ทำสิ่งที่ตัวเองควรจะทำ Le Corbusier ยังบอกต่ออีกว่า

"ARCHITECTURE is an artistic fact, an emotional phenomenon that is outside questions of construction, beyond them."

จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ Viollet บอกว่าสำหรับสถาปัตยกรรมแล้วพวกเรื่องของศิลปะนั้นเป็นเพียง seconday condition แต่ Le Corbusier บอกชัดเจนว่าสำหรับสถาปัตยกรรมเนี่ยคือตัวศิลปะเลยแหละ มันเป็นอะไรที่ไปไกลกว่า หรือเกินไปกว่าเรื่องของการก่อสร้าง ซึ่งเรื่องของการก่อสร้างเนี่ย มันเป็นเรื่องของพวกวิศวะเค้า ไม่ใช่เรื่องที่สถาปนิกควรจะไปลงเวลาด้วย

แต่สุดท้ายแล้วผมคิดว่า Le Corbusier ก็เริ่มมาเหมือนจะไปทางศิลปะนะ แต่ก็วกกลับเข้ามาทาง Engineer อยู่ดี ผมคิดว่ามันก็เพราะด้วยบริบทอะไรหลายๆอย่าง แต่ประเด็นคือเพราะว่าวิศวกรรมมันรุ่งเรืองมาก Le Corbusier จึงมองวิศวกรรมว่าเป็นตัวอย่าง เป็นแบบแผนที่ควรเอาเยี่ยงอย่าง เช่นการออกแบบเครื่องบิน การออกแบบรถยนต์ คือมันแสดงให้เห็นถึงเรื่องของวิทยาการ เทคโนโลยี ความสมัยใหม่ ความเป็นเครื่องกล (Machine) ที่เป็นทางที่ควรตามไปนั่นเอง

ตรงนี้แม้เป็นเพียงบางส่วน แต่ก็เพื่อให้เห็นถึงหลักความคิดที่เป็นไปในลักษณะของการให้ความสำคัญกับเรื่องทางวิศวกรรมมากกว่าศิลปะ หรือการที่เรื่องของความงามเป็นเพียงโหมด (mode) หนึ่งภายในวิศวกรรมเท่านั้น

ซึ่งฐานของมัน (จริงๆผมควรจะเอาฐานขึ้นก่อนตั้งแต่แรกสินะ) ก็คือการที่มองว่าเหตุผลอยู่เหนือทุกอย่าง และก็คงจะชัดจากที่ Georg Wilhelm Friedrich Hegel (เรียกสั้นๆว่าเฮเกลละกัน) ได้พยายามจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งต่างๆรวมถึงสถาปัตยกรรมเป็นเพียงสื่อกลาง (means) เพื่อมุ่งไปสู่ความจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้มีภูมิปัญญา (Wisdom) ในตัวของสถาปัตยกรรมเอง

สรุปคือสถาปัตยกรรมเป็นสื่อกลางไปหาบางอย่าง ไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง (Architecture is the means not the end)

 

อะไรคือสถาปัตยกรรมแบบเป็นศิลปะ? (What is Architecture as Art?)

คนสมัยปัจจุบันอาจจะบอก เอ้ย! สถาปัตยกรรมก็เป็นอะไรที่เป็นศิลปะอยู่แล้วไม่ใช่หรอ แบบว่า เรื่องของความงาม โดยที่อีกครึ่งหนึ่งก็เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ อย่างที่เราคงเคยได้ยินบ่อยๆว่าสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นอะไรที่อยู่ระหว่างวิทย์กับศิลป์นั่นเอง

ก็ถ้าเรามองอย่างเผินๆว่าเรื่องของวิทย์เป็นเรื่องของการก่อสร้าง ส่วนศิลป์เป็นเรื่องของความงาม ก็คือต้องสามารถสร้างอะไรที่มันออกมาแล้วงามได้ หรืออะไรประมาณอย่างนั้น

แต่ถ้าลองดูเข้าไปลึกๆอีกนิดหนึ่ง คือเราต้องแยกหลักคิดที่ว่าสถาปัตยกรรมนี่มันมีภูมิปัญญา (Wisdom) ในตัวของมันเองหรือเปล่า? เช่น อาคารมีอยู่เพื่อแค่ให้ใช้งานเท่านั้น ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนั้นหรือเปล่า? (Functionalism) หรือการจะเข้าถึงความดี (goodness) ของอาคารได้ต้องผ่านหลักคิดแบบวิศวกรรมเช่น ค่าป้องกันความร้อนของวัสดุต้องเท่านั้นเท่านี้ คิดออกมาเป็นตัวเลขแล้วผ่าน คำนวณพลังงานออกมาแล้วผ่าน มีพื้นที่ใช้งานกว้างยาวตามหลักวิชา ถือว่าดี... เราคิดแบบนี้หรือเปล่า?

Note: ซึ่งการคิดแบบศิลปะ ไม่ได้มองแบบนี้ คือไม่ใช่ว่าเค้าไม่สนเรื่องพวกนี้อย่างสิ้นเชิงนะ แต่อ่านต่อไปอาจจะพอทำให้เข้าใจมากขึ้นได้

ภายใต้หลักคิดของการมองสถาปัตยกรรมแบบเป็นศิลปะนั้น ผมคิดว่า Immanuel Kant (อิมมานูเอล คานท์) ได้ชี้ให้เห็นพื้นฐานแนวคิดตรงนี้เป็นอย่างดีใน Critique of Judement ที่เขียนเอาไว้ว่า:

"We thus see that genius is a talent for producing that for which no definite rule can be given; is it not a mere aptitude for what can be learned by a rule."

คุณ Kant พยายามจะบอกว่าศิลปะหรืออะไรที่มันสวยงาม (beautiful) ไม่ได้เกิดจากการถูกกำหนด ("no definite rule can be given") หรือการมองความงามในตัวของมันเองไม่จำเป็นจะต้องมีวัตถุประสงค์อะไรเพื่อเป็นการรองรับความงามนั้นๆ ("purposiveness without purpose")

ก่อนที่จะลงลึกไปกว่านี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นหลักคิดตรงนี้ชัดๆอีกสักทีโดยให้ลองอ่านที่ Friedrich Nietzsche เขียนใน The Birth of Tragedy เอาไว้ตอนหนึ่งว่า:

"Might there be a realm of wisdom from which the logician is excluded? Might art even be a necessary correlative and supplement to science?"

ก็คล้ายๆกับหลักข้อหนึ่งในกาลามสูตรที่ว่า "มา ตกฺกเหตุ" หรือ "อย่างเพิ่งปลงในเชื่อเพียงเพราะเป็นเหตุเป็นผล หรือตามตรรกะ" ประเด็นก็คือว่าคุณ Nietzsche พยายามตั้งคำถามกับ "กรอบ" ของภูมิปัญญา (Wisdom) ที่มาจากหลักเหตุผล หรือหลักตรรกะ โดยศิลปะสามารถที่จะมีภูมิปัญญาในตัวเองได้โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องตกอยู่ภายใต้กรอบของหลักเหตุผลได้หรือไม่?

ประเด็นก็คือ (ผมพยายามอธิบายให้ชัดอีกที) สถาปัตยกรรมเป็นโหมด (mode) ของตัวมันเอง เป็นตัวของมันเอง มีภูมิปัญญาในตัวเอง ไม่จำเป็นจะต้องถูกอธิบายภายใต้โหมดคิดแบบอื่นๆ 

เท่าที่ผมพอจะทราบ (คือมันมีมากกว่านี้ละนะ แต่เอาที่ผมพอรู้บ้าง) ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม ที่ชัดๆในด้านศิลปะนี้ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องของ "Place" กับ "Meaning" นี่แหละ

คำว่า Place นี่ผมไม่กล้าแปล ไม่รู้เค้าแปลกันยังไง แต่ Meaning ก็คือความหมาย ความหมายในเชิง "ภาษา" ภาษาทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นมากกว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ให้เห็นเป็นผนัง เป็นบัว เสา คาน แต่ภาษาที่มีความหมายที่ลึกลงไปข้างใน ภาษาของมันเอง ภาษาของสถาปัตยกรรม ภาษาที่สื่อสารกับคนอยู่เสมอๆ เรื่องนี้อยู่ในหมวดของสัญวิทยา (Semiology)

ส่วนเรื่องของ Place ก็เป็นเรื่องของการที่คนใดๆที่รับรู้สภาพแวดล้อมใดๆย่อมมีความเป็นตนขึ้นมาได้จากสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งความเป็น Place เป็นเรื่องของ Existential คือการมีอยู่ของสถานที่ใดๆโดยไม่ขึ้นอยู่กับกายภาพแต่มีอยู่ในลักษณะของความทรงจำ ชิ้นส่วนของความทรงจำ สิ่งที่ได้รับ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในพื้นที่ตรงนั้นโดยไม่จำเป็นจะต้องอธิบายออกมาเป็นคำพูดใดๆ อันนี้อยู่ในหมวดของปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology)

มีบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของคุณ Tadao Ando โดย Toshio Okumura ในปี 1983 ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนและสถาปัตยกรรม ซึ่งน่าจะสามารถทำให้เห็นภาพของแนวคิดที่เป็นไปในด้านนี้ได้บ้าง เค้าได้ตอบว่า:

"The meaning of a space can change  simply by controlling the amount of light. Rhythms are created by alternating spaces having large amounts of light with spaces having less. In both cases, the form does not come to the foreground. An artist of the Meiji period, Okakura Tenshin, wrote in The Book of Tea that the meaning of architecture is not in the floor, walls, or ceiling, but in the world contained inside. In exactly the same way, I feel that the space contained is the primary concern, and not the walls, floor and ceiling which bound it."

"ความหมายของ space สามารถเปลี่ยนได้โดยเพียงแค่ควบคุมปริมาณแสง จังหวะต่างๆ (rhythms) ถูกสร้างโดย space ที่มีแสงมากกับ space ที่มีแสงน้อย อยู่สลับกันไปมา ในทั้ง 2 กรณี รูปทรง (form) ไม่ออกมาเป็นหน้าฉาก (ตัวหลัก) ศิลปินสมัยเมจิชื่อ Okakura Tenshin เขียนใน The Book of Tea ว่าความหมายของสถาปัตยกรรมไม่ได้อยู่ในพื้น ผนัง หรือฝ่าเพดาน แต่อยู่ในโลกที่อยู่ข้างในในลักษณะเดียวกันนั้น ผมรู้สึกว่า space ที่อยู่ข้างในคือสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลัก ไม่ใช่ผนัง พื้น และฝ่าเพดานที่ล้อมรอบมัน" 

หรือแนวความคิดในทำนองคล้ายๆกันของ Christian Norberg-Schulz ที่ชัดเจนว่าสถาปัตยกรรมคือภาษา:

"Architecture is a language. As such it keeps the spatiality of the world. The architectural language consists of archetypal images that reveal those structures which are invariant with respect to place and time. The archetypes are not forms which exist in some distant realm as an ideal 'Ding an such' [thing in itself]. Rather they represent basic modes of being in the world, or 'existential structures'."

"สถาปัตยกรรมคือภาษา ภาษาที่บรรจุความว่างของโลกเอาไว้ ภาษาทางสถาปัตยกรรมประกอบไปด้วยภาพลักษณ์ในอุดมคติที่แสดงถึงโครงสร้างต่างๆ โดยโครงสร้างเหล่านั้นดำรงอยู่ในสถานที่และช่วงเวลา (place and time) รูปแบบที่เป็นสัจจะ (archetype) ไม่ใช่รูปทรงที่มีอยู่ในดินแดนอันแสนไกลอย่าง 'สิ่งที่มีอยู่โดยที่เราไม่เคยรับรู้ว่ามีอยู่/ สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวมันเอง' [thing in itself] ที่เป็นอุดมคติ แต่รูปแบบที่เป็นสัจจะนั้นหมายถึงโหมด/แบบ/วิธี ต่างๆของการอยู่ในโลก หรือ 'โครงสร้างของการมีตัวตน' (existential structures)"

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนถึงวิธีคิดว่าสถาปัตยกรรมเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องของวิทยาการ เทคโนโลยี หรือเรื่องของความกว้างยาว แต่เป็นเรื่องของการรับรู้ ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งหลักการพื้นฐานตรงนี้จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างมากเช่นจาก Martin Heidegger และ Maurice Merleau-Ponty ในเรื่องปัญหาของการมีตัวตน (Being) ซึ่งผมคงไม่อธิบายตรงนี้

จุดตรงนี้สรุปสั้นๆว่าสถาปัตยกรรมเป็นจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่เป็นเพียงสื่อกลางเพื่อไปหาอย่างอื่น (Architecture is the end not the means)

สรุป

อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้เขียนบทความนี้เพื่อมีเป้าหมายที่จะอธิบายอะไรที่ลึกซึ้ง เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานของแนวคิดในทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม ซึ่งอย่างที่บอกไว้ตอนต้น ว่าถ้าเอาจริงๆก็สามารถบอกได้เลยว่าสถาปนิกแต่ละคนก็มีทฤษฎีเป็นของตัวเองทั้งนั้น ซึ่งถ้าจะศึกษาทฤษฎีใดๆ ก็คงจำเป็นจะต้องเข้าหาสถาปนิกคนนั้นๆโดยเฉพาะเจาะจงเลย

แต่บทความนี้ก็หวังว่าจะทำให้พอเห็นแนวทางของความคิด ซึ่งสมควรที่จะไปหาว่าตัวเราเองสามารถทำความเข้าใจด้านไหนได้สะดวกกว่ากัน หรือสนใจด้านไหนมากเป็นพิเศษ เพราะบางทีสำหรับบางคนก็อาจจะยากที่จะเข้าใจเรื่องของภาษาทางสถาปัตยกรรม หรือบางคนอาจจะคิดว่าเรื่องของปรากฏการณ์วิทยานี่มันช่างใช่เลย เป็นต้น


ฉะนั้นผมขอลากันตรงนี้ จริงๆแล้วสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ หรือคิดเห็นยังไง ก็สามารถคอมเม้นได้นะครับ จะได้ขยายความบางส่วนเพิ่มเติมในครั้งต่อๆไป

ใน website นี้ของผมก็พอมีเรื่องพวกนี้อยู่บ้างนะ ถึงจะไม่มาก ลองกดๆกันอยู่ครับ