การเรียนสถาปัตย์ปีที่ 2 ที่ Welsh School of Architecture (WSA)
สวัสดีครับ วันนี้ผมอยากเขียนเล่าถึง การเรียนสถาปัตย์ปีที่ 2 ที่ Welsh School of Architecture (WSA) สักหน่อย พอดีวันก่อนผมมีโอกาสได้พูดคุยกับน้องเพลง ซึ่งน้องเพลงเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ปีที่ 2 กำลังขึ้นปีที่ 3 เพิ่งส่งงานตัวสุดท้ายของปีไป ผมเลยขอโอกาสน้องเค้ามาซักถาม พูดคุยกันเกี่ยวกับการเรียนสถาปัตย์ปีที่ 2 สักเล็กน้อย เพื่อนำมาเขียนเล่าลงไว้ที่นี่ครับ
เนื้อหาวันนี้จะเกี่ยวกับเรื่องการเรียนทั่วๆไป เช่นภาพรวมเป็นอย่างไร เรียนวิชาอะไรบ้าง และบรรยากาศการเรียนเป็นอย่างไร โดยจะเน้นทั้งประสบการณ์ส่วนตัวของน้องเพลง และเรื่องทั่วๆไปของการเรียนด้วย วิธีเขียนคือผมจะเล่าเสียมากกว่า และจะอ้างอิงคำพูดของน้องเพลงในบางตอนที่คิดว่าเหมาะสม โดยคำใน "..." แปลว่าคำพูดของน้องเพลงนะครับ
เริ่มกันเลยดีกว่าครับ :D
นี่คือน้องเพลงนะครับ ชื่อจริง นางสาว ทรงพร ล้วนปรีดา
การเรียนสถาปัตย์ปีที่ 2 ที่ Welsh School of Architecture (WSA), Cardiff University
บรรยากาศโดยรวมของการเรียนปี 2
จากที่น้องเพลงได้เล่าให้ผมฟัง ผมขอเล่าถึงลักษณะ 3 อย่างที่เห็นได้ชัดเลยกับการเรียนในชั้นปีที่ 2 ก็คือ 1)ความเปิดกว้าง (openness) 2)ความเป็นจริง (practicality) และ 3)ความมีฐานความคิด (rationality) ในการเรียนการสอน
- ความเปิดกว้างนี้ผมหมายถึงการให้นักศึกษาสามารถเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ค่อนข้างกว้าง ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาออกแบบ หรือการเขียนเรียงความในวิชาอื่นๆ รวมไปถึงลักษณะของเนื้องานที่จำเป็นจะต้องทำเพื่อตอบสนองกับงานของนักศึกษา เช่นวิชาหลักอย่างวิชาออกแบบ ก็มี 4 หัวข้อมาให้นักศึกษาเลือกว่าอยากอยู่กลุ่มไหน โดยกลุ่มที่อยู่นี้จะเป็นกลุ่มที่ต่อเนื่องไปจนจบปี โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีสิ่งที่สนใจไม่เหมือนกัน และอาจจะมีวิธีการพัฒนางานที่ไม่เหมือนกันด้วย
เรื่องของความเปิดกว้างนี้นอกจากเป็นในระดับกลุ่มแล้วยังเป็นในระดับบุคคลด้วย เพราะว่านักศึกษาแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีความเร็ว หรือวิธีการพัฒนางานที่เท่ากัน นั่นแปลว่างานของนักศึกษาแต่ละคนจะค่อนข้างมีแนวทางเป็นของตัวเอง ตั้งแต่วิธีการเข้าถึงสถาปัตยกรรม (approach) ไปจนถึงการพัฒนาแบบ (Design Development) แม้สุดท้ายแล้วปลายเทอมก็จำเป็นจะต้องมีงานมาส่งในลักษณะที่ต้องมากพอ แต่ในระหว่างนั้นนักศึกษาแต่ละคนก็มีอิสระในเรื่องของวิธีการทำงานค่อนข้างมาก
ความเปิดกว้างจะเห็นได้อย่างชัดเจนในเทอมที่ 2 ซึ่งนักศึกษาจะต้องคิดโปรแกรมเอง เช่น site จะอยู่ตรงไหน ควรมีฟังก์ชันอะไรบ้าง จะมีคนใช้งานกี่คน และรวมไปถึงงานที่จะส่งควรมีอะไรบ้าง แต่โดยวัฒนธรรมของคณะสถาปัตย์ที่ WSA แล้ว ความเปิดกว้างตรงนี้ก็ไม่ได้กว้างเสียจนเป็นนามธรรม และไม่มีที่มาที่ไป ซึ่งก็เป็นประเด็นที่จะเล่าต่อในข้อ 2 และข้อ 3
งานเทอม 1 ของน้องเพลง ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
- ความเป็นจริงก็คือเรื่องของ Practicality ของงาน เช่นการต้องคิดเรื่องโครงสร้าง งานระบบของอาคาร และการคำนวณพลังงาน รวมไปถึงการศึกษาและเข้าใจบริบทด้วย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ก้าวขึ้นมาจากปี 1 อย่างเห็นได้ชัด เพราะงานในปี 1 จะมี site อยู่ในป่า หรือที่ไกลผู้คน ฉะนั้นความซับซ้อนในเชิงสถาปัตยกรรมและมนุษย์จะน้อยกว่า site ของปี 2 ที่จะอยู่ในเมือง
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็นในส่วนของความเป็นจริงคือการสอนให้นักศึกษามองเห็นปัญหา ไม่ว่าจะปัญหาในระดับเล็ก ไปจนถึงปัญหาในระดับโลก เช่นเรื่องของ Housing Crisis ที่แม้จะพูดถึงปัญหานี้ในยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อาจารย์ก็ได้ชี้ให้เห็นปัญหานี้ในที่อื่นๆ เช่นในประเทศไทยช่วงหลังสึนามิ เป็นต้น
- เรื่องที่ 3 คือความมีฐานความคิด หรือ Rationality ซึ่งก็คือว่า นักศึกษาจะทำอะไรต้องมีการทำวิจัย (Research) มาก่อนเสมอ ไม่ว่าจะด้านโปรแกรมของโปรเจค โครงสร้าง งานระบบ มาตรฐานอาคาร และรวมไปถึงการออกแบบอีกด้วย ไม่สามารถที่จะใช้เหตุผลว่าเพราะมันสวยหรือเพราะชอบ แต่ต้องมีหลักการอยู่เบื้องหลังวิธีคิดเสมอ
ความมีฐานความคิดนี้ยังมีความหมายกว้างไปถึงลักษณะการให้คะแนนที่สนใจกระบวนการ (Process) อีกด้วย ดูได้จากการส่งงานออกแบบของนักศึกษา จำเป็นจะต้องส่งรายงานและสมุดจดควบคู่ไปด้วย เพราะไม่ได้สนใจแค่ผลสุดท้ายของงาน แต่กระบวนการก็สำคัญเช่นกัน
เรื่องของกระบวนการที่่ว่าสำคัญนี้จะเห็นได้จากการให้คะแนนสุดท้าย ซึ่งได้จากการ Review ที่เรียกว่า Synoptic Portfolio การ Review ครั้งสุดท้ายเป็นการที่นักศึกษาแต่ละคนมานั่งคุยกับอาจารย์ตอนปลายปีการศึกษา เพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่ทำมาทั้งปี ความคิดของเราเปลี่ยนไปยังไง มีการพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง ไปในทิศทางไหนบ้าง เติบโตจากปีที่แล้วยังไง เรื่องไหนที่ต้องปรับปรุง หนังสือที่จะต้องอ่านต่อ และอะไรที่อ่านไปแล้วบ้าง ต่างๆนาๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นการให้คะแนนครั้งสุดท้าย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องของตัวงานตัวสุดท้ายอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวกับกระบวนการด้วยครับ
เรียนวิชาอะไรบ้าง
ปี 2 เรียนเทอมละ 4 วิชา 2 เทอมเหมือนกัน ก็คือว่ามันต่อเนื่องกัน แต่ในเทอมที่ 2 จะมีวิชานึงที่ไม่ค่อยได้เรียนละ ก็แปลว่าเทอมที่ 2 เหลือ 3 วิชา โดยทั้ง 4 วิชาได้แก่
-
Design Studio
-
Technology
-
Architecture in Context
-
Design Principle and Method
ซึ่งผมขออธิบายรายละเอียดของแต่ละวิชาแบบคร่าวๆนะครับ
งานเทอม 2 ของน้องเพลง Community Space สำหรับผู้สูงอายุ
Design Studio
“เพลงก็อยู่ Aging Town Studio ทั้งปีเลย แต่ก็สนุนนะ… มันเป็น Studio เดียวที่เกี่ยวกับคนมากที่สุด”
ในวิชาออกแบบ พอเริ่มเทอมมาอาจารย์ก็จะให้เลือกเลยว่าอยากอยู่ Studio ไหน ซึ่งแต่ละ Studio ก็จะมีเรื่องที่สนใจไม่เหมือนกันทำงานแยกกันเลย ก็คือจะมี 1) Craft Town 2) Aging Town 3) Town & Garden และ 4) Riverine ซึ่งน้องเพลงเลือกอยู่ Aging Town ที่ความสนใจอยู่ที่ผู้สูงอายุ โดยอาจารย์ 1 คนต่อนักศึกษาไม่เกิน 11 คน
ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งในเทอม 1 และเทอม 2 ก็คือเรื่องของโปรแกรม เทอม 1 อาจารย์จะให้โปรแกรม (Program Requirement) เรามา แต่เทอม 2 ก็คือยังอยู่ในเรื่องของผู้สูงอายุเหมือนเดิม และให้ site มา แต่ที่เหลือนักศึกษาแต่ละคนต้องไปสร้างโปรแกรมขึ้นมาเอง
ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เรื่องที่ให้นักศึกษาคิดโปรแกรมเองตั้งแต่ปี 2 เลยให้น้องเพลงอธิบายเพิ่มเติม ได้ความดังนี้ครับ
“เราเริ่มมาเค้าจะให้เรา research ก่อน หรือเรามีไอเดียมาก่อน พอเราเริ่ม research เราต้องมีข้อมูลอ้างอิง เค้าให้เราพัฒนาบรีฟของตัวเอง เค้าเขียนเลยว่า Week 1: Develop your own brief คือเทอม 1 มัน strict มาก ต้องเป็นส่วนพักอาศัย ในพื้นที่นี้ต้องมีพักอาศัย 50 ห้องนะ ต้องมีห้องน้ำ ต้องมีอะไร แต่ว่าพอมาเทอม 2 มีพื้นที่อยู่ตรงนี้ จะทำอะไรก็ตามบรีฟเลย แล้วเราก็จะสร้างบรีฟของเรา เราต้องเขียนว่าตึกเราจะเป็นอะไร เพราะว่าอะไร ทำไม เราดื้อๆไม่ได้ว่า 'ฉันอยากได้ Studio Space' แบบนี้ไม่ได้ เราต้องบอกได้ด้วยว่าทำไมถึงต้องมี Studio Space”
น้องเพลงก็เริ่มจากอ่านบทความ Silver Linings จาก RIBA ซึ่งเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และพัฒนาโปรแกรมของตัวเองจากตรงนี้
Note: ผมใช้คำว่าโปรแกรม (Program) แต่ที่นี่เค้าใช้คำว่าบรีฟ (Brief) นะครับ ความหมายเหมือนกัน
ที่นี่ตรวจแบบทุกๆวันพฤหัส นักศึกษาแต่ละคนมีเวลาเจออาจารย์ 1 ชั่วโมง ในการตรวจแบบแต่ละครั้งนักศึกษาแต่ละคนก็มีงานมาตรวจไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนมีความเร็วในการทำงานไม่เท่ากัน แต่อาจารย์ก็จะบอกว่าตอนนี้เราช้าเกินไปหรือเปล่า ควรจะดูเรื่องไหน โดยโปรเจคนึงมีเวลาทั้งหมด 12 อาทิตย์ เวลาพัฒนาโปรแกรมคร่าวๆประมาณ 2 อาทิตย์
หลังจากนั้นก็เป็นกระบวนการตามปกติคือดูเรื่อง Site Analysis, ทำ Massing, ลงรายละเอียดต่างๆ ไปจนถึงการวางเฟอร์นิเจอร์ภายใน เช่นงานของน้องเพลงเป็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ก็จำเป็นจะต้องดูเรื่องการใช้รถเข็น ความกว้างทางเดิน ห้องน้ำ ความสูงของชั้นวางของเป็นต้น นักศึกษาก็พัฒนาแบบไปเรื่อยๆจนถึงอาทิตย์สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของเตรียมทำ presentation เช่นการ render ทำ photoshop เป็นต้น
ส่วนหนึ่งของ Site Analysis
Technology
วิชาเทคโนโลยีจะเรียนเกี่ยวกับพวกโครงสร้าง งานระบบ และพลังงาน ซึ่งจะควบคู่ไปกับวิชา Design Studio เช่นเทอม 1 ก็จะเรียนเกี่ยวกับ “Construction นั้นจะเป็นยังไง Materiality คืออะไร Wall Structure จะเป็นยังไง U-Value เป็นยังไง อันนี้คือเทอม 1”
เทอม 2 ก็จะหนักขึ้น เพราะเทอม 2 ต้องส่ง Technical Brief คู่กันกับวิชา Studio ด้วย โดยในตอนแรกต้องเขียน Technical Manifesto ก่อน ว่าตึกในวิชา Design Studio เราจะเป็นยังไง ดูเป็นยังไง หนักหรือเบา แล้วก็เขียนเรื่อง Massing ว่าทำไมเราถึงทำ Massing แบบนี้ แล้วก็พวกหนีไฟ, โครงสร้าง, งานระบบ, U-Value และพลังงานรวมในอาคาร
วิชานี้ต้องส่งคู่กับวิชา Design Studio เป็นรายงานคู่กัน
maipatana: วิชานี้ยากไหม
เพลง: ก็ยากใช้ได้ เพลงว่าตราบใดที่เราเข้าเรียน แล้วเรารู้ เรามั่นใจในโปรเจคเราจริงๆ แล้วเราทำตาม Logical Procedure (ลำดับความคิดอย่างมีเหตุผล) มาตั้งแต่แรกจนจบ มันจะไม่ยาก แต่ถ้าเราไม่ได้ทำตาม Logical Procedure แบบ Massing มาแล้วฉันจะเอาแบบนี้ มันก็จะงงว่า เฮ้ย เราได้อันนี้มาได้ยังไง... ถ้าเราเอาตามใจฉัน อันนี้มันสวยดี มันก็ไม่ใช่”
Architecture in Context
วิชานี้ต่อยอดมาจากวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมจากปี 1 โดยเรียนเป็นยุคๆ แต่ปีนี้เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ (Event) เสียมากกว่า เช่นเรื่องของหน้าบัน (Tympanum) ของวิหารในกรีก มันควรอยู่ที่อังกฤษหรืออยู่ที่เดิมมากกว่า หรือที่บอกไว้ข้างต้นว่าเรื่อง Housing Crisis และสึนามิก็อยู่ในวิชานี้นี่แหละครับ
การส่งงานก็เป็นการเขียนเรียงความ และก็มีสอบปลายเทอม สอบก็เป็นสอบข้อเขียน เค้ามีคำถามมาให้เลือกว่าจะตอบข้อไหน ซึ่งคำถามจะมีหลายลักษณะตั้งแต่วิพากษ์ (Critical) โต้แย้ง (Argument) หรือแบบวิเคราะห์ (Evaluate) แต่น้องเพลงบอกว่าคำถามมันไม่ได้หลอกอะไรมาก ก็ถามตรงๆ ถ้าเข้าเรียนก็ต้องตอบได้อยู่แล้ว
หลักๆของวิชานี้ก็คือสอนให้คิด โต้แย้ง ให้เหตุผล เช่นเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยที่น้องเพลงเลือกจะเขียนเรียงความในเรื่องนี้ ก็เป็นการโต้แย้งแนวคิดของ Mies Van der Rohe และ Rem Koolhaas ที่ต่างก็มีความชอบธรรมในแต่ละยุคสมัยของตัวเอง เป็นต้น
ส่วนหนึ่งของงานวิชา DPM
Design Principle and Method (DPM)
วิชานี้เน้นการศึกษาการใช้โปรแกรมต่างๆเพื่อช่วยในการออกแบบ เรียนเกี่ยวกับ Digital Fabrication โดยเป็นงานกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน โดยงานก็คือให้ใช้ Maya หรือ 3DsMax ทำรูปทรงขึ้นมา โจทย์แค่ให้สร้างอะไรก็ได้ในเมือง ไม่มีโปรแกรมอะไรสำหรับวิชานี้ ความสนใจหลักคือเราจะปั้นรูปทรงนั้นๆได้ยังไง แล้วจะนำไปผลิตได้อย่างไรเช่นต้องเข้าเครื่องตัด Laser ไหม หรือเข้าเครื่องปริ้น 3 มิติ เป็นต้น
บางกลุ่มก็เริ่มวิธีคิดจากการขยับของสัตว์ในธรรมชาติ บางกลุ่มก็เริ่มจากการศึกษาท่าเต้นรำ กลุ่มน้องเพลงเริ่มหาแรงบันดาลใจจากโครงสร้างกระดูก (Bone Structure) จากนั้นก็ลองขึ้นรูปทรงในโปรแกรม 3DsMax และทดสอบดูว่ารูปทรงไหนดีที่สุดในมุมต่างๆ และสุดท้ายก็ต้องสร้างโมเดลออกมา ซึ่งแต่ละกลุ่มอาจจะใช้วิธีไม่เหมือนกัน เช่น ใช้ดินปั้น ใช้เครื่องปริ้น 3 มิติ สำหรับกลุ่มของน้องเพลงเลือกใช้ Vacuum Former ในการทำโมเดล
วิชานี้เค้าให้เลือกว่าจะปั้นใน 3DsMax หรือ Maya ที่กลุ่มน้องเพลงใช้ 3DsMax ก็เพราะว่าทำกันเป็นอยู่แล้ว บางกลุ่มลำบากมากเพราะทำไม่เป็นกันเลย แม้ว่าทางคณะจะจัด Training ให้ แต่ก็แค่ 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่มากพอ ก็ต้องลำบากนิดหน่อยสำหรับบางกลุ่ม
การส่งงานสุดท้ายก็คือส่งเป็นเล่มและโมเดล คือในเล่มก็ต้องแสดงด้วยว่าเราได้ทำการศึกษารูปทรงต่างๆอย่างไรบ้าง ทำไมสุดท้ายถึงออกมาเป็นรูปทรงนี้ พร้อมกับวิธีการทำอย่างไรด้วย
สิ่งที่น้องเพลงชอบมากที่สุดในปี 2
“ทำโปรเจคที่มันเป็นไปได้มากขึ้น คือปี 1 นี่ abstract มาก”
ด้วยการที่น้องเพลงเป็นคนที่ชอบอะไรที่มีเหตุผล จึงรู้สึกชอบปี 2 ในเรื่องของการผสมผสานเรื่องบริบท เรื่องเทคโนโลยี โครงสร้าง และมนุษย์เข้ามามากขึ้นกว่าปี 1 ซึ่งการที่โปรเจคมีความเป็นไปได้มากขึ้น ก็หมายถึงมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้นไปด้วย แต่สำหรับน้องเพลงแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าสนุก น่าสนใจ น่าตื่นเต้นที่เราต้องคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ด้วย เรื่องที่อาจจะคิดไม่ถึงมาก่อนเลย
“เพลงจะถามตัวเองตลอด เวลา Design ออกมา ก็จะถามตัวเองว่าทำไม ก็โอเค ถ้าตอบไม่ได้เลย...ถ้าเพลงตอบไม่ได้ว่าทำไม นอกจากมันสวยดี มันก็ไม่ valid แล้ว”
น้องเพลงอีกสักรูป
สิ่งที่น้องเพลงชอบน้อยที่สุด
เรื่องที่น้องเพลงชอบน้อยที่สุด ดูจะเป็นเรื่องของการที่คณะไม่เคยสอนเลยว่าต้องวาด plan ยังไง ทำ photoshop ยังไง แม้ว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับน้องเพลง เพราะว่าน้องเพลงฝึกฝนเรื่องพวกนี้มาก่อนแล้ว แต่สำหรับเพื่อนๆหลายคนก็เป็นปัญหาอย่างมาก เพราะเค้าเขียนมือเป็น แต่ทำงานในคอมพิวเตอร์ไม่เป็น หรือทำเป็นแต่ไม่ได้รับการฝึกสอนมาก็ทำให้ทำงานได้ช้า
แต่มันก็ไม่ได้ดูจะเป็นข้อเสียไปหมด เพราะในมุมนึงก็แปลว่านักศึกษาแต่ละคนก็สามารถพัฒนาวิธีการทำงานของแต่ละคนได้เอง หรือแม้แต่สไตล์การเขียนแบบของแต่ละคน
น้องเพลงอยากเพิ่มเติมอะไรไหมครับ
“เพลงคิดว่า ที่นี่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการอ่านเยอะๆ แล้วก็ research คือแบบ ถึงคุณทำแปลนออกมาสวยมาก perfect มาก โมเดลออกมาสวยมาก perfect มาก แต่ถ้า research มันไม่มีอะไรอ้างอิงเลย หรือไม่มี logic เลย เกรดก็ไม่ได้ ถึงจะสวยเท่าไหน มันไม่มีตรงนั้น ก็ตกได้”
ส่งท้าย
เป็นไงกันบ้างครับ เรื่องราวของการเรียนสถาปัตย์ปีที่ 2 ที่ Welsh School of Architecture จากการบอกเล่าของน้องเพลง ซึ่งแน่นอนว่ามันมีเนื้อหามากกว่านี้ที่ผมไม่ได้สามารถเขียนออกมาได้หมด แต่ก็น่าจะครอบคลุมเรื่องสำคัญๆเอาไว้ได้ไม่มากก็น้อย
จริงๆที่คณะก็มีรุ่นน้องคนไทยเรียนปี 1 ด้วย แต่ด้วยเวลาที่กระชั้นจึงไม่ได้นัดมาคุย ผมได้ข่าวมาว่าปีหน้าที่คณะผมก็จะมีนักศึกษาคนไทยเข้ามาเรียนเพิ่มอีก เราก็จะมีเด็กไทยครบ 3 ปีเลย คิดว่าคราวหน้าอยากจะลองเชิญมาทำเป็นรูปแบบวีดีโอให้หมด ก็ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ ไว้เจอกันใหม่
:D